ลองกอง เป็นผลไม้รสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน ผลมีลักษณะและขนาดคล้ายไข่นกกระทา เปลือกสีเหลืองอมน้ำตาล เนื้อมีสีขาวขุ่น มีเมล็ดด้านในให้รสฝาด พบมากในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ลองกองเป็นผลไม้ที่ให้กากใยสูง และยังประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินหลายชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินเอ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นสนับสนุนว่า ลองกองอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ อาทิ ทำให้แผลหายไวขึ้น ช่วยต้านโรคมาลาเรีย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
[embed-health-tool-bmr]
คุณค่าทางโภชนาการของ ลองกอง
ลองกอง 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 57 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 14.2 กรัม
- โปรตีน 1 กรัม
- ใยอาหาร 0.8 กรัม
- โพแทสเซียม 275 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 31 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 19 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 2 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ในลองกองยังอุดมไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 โซเดียม เหล็ก
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ลองกอง
ลองกอง ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของลองกอง ดังนี้
-
อาจช่วยฟื้นฟูให้แผลหายเร็วขึ้น
ลองกองอุดมไปด้วยสารฟีนอล (Phenol) ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นชัดในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านหรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์ จึงช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อบุผิวที่เสียหายหรือถูกทำลายให้กลับมาสมานตัวได้อย่างรวดเร็ว การบริโภคลองกองจึงอาจช่วยฟื้นฟูบาดแผลได้เร็วขึ้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับลองกอง ผลไม้นานาประโยชน์ ประโยชน์ดั้งเดิม สารพฤกษเคมี คุณค่าสารอาหาร และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เผยแพร่ในวารสาร Nutrients พ.ศ. 2565 ระบุว่า ลองกองมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิดโดยเฉพาะสารประกอบฟีนอล ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ต้านความชรา ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสมานบาดแผล ทั้งบาดแผลทั่วไป และบาดแผลพุพอง อีกทั้ง ยังสามารถนำไปสกัดใช้ได้ทั้งในทางโภชบำบัด และเวชสำอาง
งานวิจัยชิ้นนี้ สรุปว่า ลองกอง นับเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นพิษต่ำ และสามารถนำไปใช้บรรเทาอาการของโรคได้หลายชนิด
นอกจากนั้น อนุภาคนาโนเงินหรือซิลเวอร์นาโน (Silver nanoparticles) ในเปลือกลองกอง มีคุณสมบัติช่วยให้บาดแผลหดตัวเร็วขึ้น รวมถึงมีอัตราฟื้นฟูตัวเองที่เร็วขึ้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยประสิทธิภาพของอนุภาคนาโนเงินซึ่งสกัดจากเปลือกลองกองต่อการเยียวยาบาดแผล ตีพิมพ์ในวารสาร Materials Express ปี พ.ศ. 2558 โดยทำการทดลองเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างเซลล์บาดแผลในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เจลซึ่งมีส่วนผสมของอนุภาคนาโนเงิน กับกลุ่มตัวอย่างอื่น ๆ พบว่า อนุภาคนาโนเงินช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเจลในการรักษาบาดแผล โดยตรวจสอบจากความแข็งแรงของบาดแผล และระยะเวลาแผลปิด นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า อนุภาคนาโนเงินอาจช่วยเพิ่มอัตราการผลิตโปรตีนคอลลาเจนที่ เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูตัวเองของบาดแผลในผิวหนังด้วย
ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สารสกัดลองกอง (เปลือก) อาจมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูบาดแผลจริง
-
อาจช่วยต้านโรคมาลาเรีย
เมล็ดของลองกองอาจมีประสิทธิภาพในการต้านโรคมาลาเรียได้ รวมทั้งเปลือก และใบของลองกองยังมีคุณสมบัติในการช่วยกำจัดโปรโตซัวชนิดพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum) ซึ่งมีอยู่ในตัวพาหะนำโรคอย่างยุงที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมาลาเรีย
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของสารเททรานอทริเทอพินอยด์ (Tetranortriterpenoid) ในเมล็ดลองกองต่อการต้านเชื้อมาลาเรีย ตีพิมพ์ในวารสาร Phytochemistry ปี พ.ศ. 2549 นักวิจัยทำการทดลองในห้องทดลองด้วยการคัดแยกสารกลุ่มเททรานอไทรเทอพินอยด์ 5 ชนิด และสารกลุ่มไทรเทอพินอยด์ (Triterpenoid) 11 ชนิด เพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติของสารชนิดดังกล่าว พบว่า สาร 8 ชนิด จากทั้งหมด 16 ชนิดที่ทดสอบ อาจมีประสิทธิภาพต้านมาลาเรีย ด้วยการกำจัดโปรโตซัวชนิด พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัมที่อยู่ในยุงซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคมาลาเรีย
อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าสารประกอบในเมล็ดลองกอง มีคุณสมบัติต้านเชื้อมาลาเรียในมนุษย์ได้จริง
-
อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ลองกองมีสารลาเมสติคิวมิน จี (Lamesticumin G) ที่มีประสิทธิภาพยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลฟา กลูโคซิเดส (α-Glucosidase) ซึ่งมีหน้าที่ย่อยสลายแป้งเป็นน้ำตาลในร่างกายและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การบริโภคลองกองจึงอาจมีส่วนช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงเป็นปกติได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องลาเมสติคิวมิน จี สารยับยั้งอัลฟา กลูโคซิเดสชนิดใหม่ จากเปลือกลองกอง เผยแพร่ในวารสาร Natural Product Research ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยสกัดสารลาเมสติคิวมิน จี จากเปลือกลองกอง ร่วมกับสารอื่น ๆ อีก 4 ชนิด แล้วนำโครงสร้างของเปลือกลองกองไปทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อระบุคุณลักษณะ ผลปรากฏว่า สารลาเมสติคิวมิน จี อาจมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของอัลฟา กลูโคซิเดส ขณะที่สารอื่น ๆ ไม่มีคุณสมบัติแบบเดียวกัน
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าสารในเปลือกลองกอง อาจมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง
นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารในเปลือกลองกองต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่ป่วยเป็นเบาหวาน เผยแพร่ในวารสาร Health Notions พ.ศ. 2561 โดยนักวิจัยได้แบ่งหนูทดลองที่ป่วยเป็นเบาหวานออกเป็นกลุ่มที่บริโภคสารสกัดจากเปลือกลองกองในปริมาณที่แตกต่างกัน และกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคสารสกัดจากเปลือกลองกอง ทดลองเป็นระยะเวลา 21 วัน พบว่า หนูทดลองที่ป่วยเป็นเบาหวานและได้บริโภคสารสกัดจากเปลือกลองกองมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง สรุปได้ว่า สารสกัดเปลือกลองกองอาจมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูทดลอง
อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสารสกัดเปลือกลองกองต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน
-
อาจมีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้
ซิลเวอร์นาโนหรืออนุภาคนาโนเงินในลองกอง มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ด้วยการเจาะเข้าไปในผนังเซลล์แบคทีเรีย แล้วเปลี่ยนโครงสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ส่งผลให้เซลล์แบคทีเรียถูกทำลาย ดังนั้น การบริโภคลองกองอาจเป็นทางเลือกหนึ่งทางการแพทย์เพื่อใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุก่อโรคในชีวิตประจำวัน
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของอนุภาคนาโนเงินจากสารสกัดใบลองกองเพื่อใช้ต้านเชื้อแบคทีเรีย เผยแพร่ในวารสารประกอบการประชุมทางการแพทย์นานาชาติของมหาวิทยาลัย Jenderal Soedirman ปี พ.ศ. 2564 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของอนุภาคนาโนเงินที่มีต่อเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และเอสเชอริเดีย โคไล (Escherichia Coli) ในหลอดทดลอง พบว่า อนุภาคนาโนเงินมีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด โดยความเข้มข้นระดับต่ำสุดของอนุภาคนาโนเงินที่สามารถยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียสและแบคทีเรียเอสเชอริเดีย โคไลได้ คือ 6.25 เปอร์เซ็นต์ และ 25 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าอนุภาคนาโนเงินอาจช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและป้องกันการเกิดโรคได้
อีกหนึ่งงานวิจัย เกี่ยวกับคุณสมบัติของแบคทีเรียแลคติค (Lactic Acid Bacteria) ในลองกองในการต่อการต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งแบคทีเรียชนิดก่อโรคและแบคทีเรียชนิดที่ก่อให้อาหารเน่าเสีย เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Environment Agriculture and Biotechnology พ.ศ. 2562 ระบุว่า ในผลลองกองมีแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติคซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค การบริโภคลองกองจึงอาจช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค และป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้
อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริโภคลองกองเพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียต่อไป
ข้อควรระวังในการบริโภค ลองกอง
ลองกอง อาจมีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้
- ก่อนบริโภคลองกองควรล้างเปลือกให้สะอาด เพราะอาจมีฝุ่นละออง สารเคมี และเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
- ควรบริโภคด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย เพราะหากสัมผัสโดนยางโดยรอบของเปลือกลองกอง อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ควบคุมปริมาณน้ำตาล หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ควรจำกัดปริมาณการบริโภคลองกองเพื่อหลีกเลี่ยงระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูง
- หากบริโภคลองกองแล้วพบว่าลิ้น เพดานปาก ลำคอ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมีอาการบวม ควรหยุดบริโภคทันทีและรีบไปพบคุณหมอ