backup og meta

แอปริคอต ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

แอปริคอต ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

แอปริคอต (Apricot) เป็นผลไม้สกุลพรุนที่อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม โพแทสเซียม   ทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ การบริโภคแอปริคอตจึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับตับ ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เสริมสร้างระบบขับถ่าย ทั้งนี้ ควรบริโภคแอปริคอตในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

คุณค่าโภชนาการของ แอปริคอต

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า แอปริคอตสด 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 86.4 กรัม ให้พลังงานประมาณ 48 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต ประมาณ 11 กรัม (แบ่งเป็นไฟเบอร์หรือใยอาหาร 2 กรัม และคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำตาล 9.24 กรัม)
  • โปรตีน 1.4 กรัม
  • ไขมัน 0.39 กรัม
  • โพแทสเซียม 259 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 13 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี  วิตามินอี วิตามินเค สังกะสี ทองแดง รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่ช่วยป้องกันการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งบางชนิด ได้

ประโยชน์ต่อสุขภาพของแอปริคอต

แอปริคอตมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณในการส่งเสริมสุขภาพของแอปริคอต ดังนี้

ช่วยต้านอนุมูลอิสระ

แอปริคอตมีสารพฤกษเคมี เช่น  สารประกอบฟีนอลิก (Phenolic compounds)  รวมถึงวิตามิน เช่น วิตามินเอ วิตามินซี  ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of the American Society for Horticultural Science เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบฟีนอลิกและคุณสมบัติของแอปริคอต พบว่า แอปริคอตประกอบไปด้วยสารประกอบฟีนอลิก โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ กรดแกลลิก (Gallic acid) กรดคลอโรเจนิก (Chlorogenic acid) กรดนีโอคลอโรเจนิก (Neochlorogenic acid) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในเมล็ดของแอปริคอตยังมีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โปรตีน ไฟเบอร์ สารประกอบฟีนอลิกอย่างกรดนีโอคลอโรเจนิก  กรดคลอโรเจนิก วิตามินอย่าง วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และแร่ธาตุ อย่างทองแดง สังกะสี ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ โดยเฉพาะสารประกอบฟีนอลิก สัมพันธ์กับอัตราการลดลงของความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังเป็นสารต้านการกลายพันธุ์ ต้านมะเร็ง และต้านการอักเสบได้

อาจช่วยปกป้องตับได้

แอปริคอตมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารฟลาโวนอยด์ สารคาเทชิน (Catechin) สารเควอซิทิน (Quercetin) รวมทั้งเบตาแคโรทีน (Beta-carotene) วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี ที่ช่วยต้านอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และอาจช่วยบำรุงตับได้ หน้าที่หลักของตับคือ สะสมพลังงานและสารอาหาร รวมไปถึงกำจัดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับสารพิษรุนแรง หรือมีสารพิษตกค้างเรื้อรัง ก็อาจกระทบต่อการทำงานของตับได้

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ปกป้องตับและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของแอปริคอตแห้ง พบว่า อาหารเสริมที่สกัดจากแอปริคอตมีประสิทธิภาพในการปกป้องตับ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซึ่งเกิดจากอนุมูลอิสระและระบบต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเสียสมดุล จนส่งผลให้เซลล์ เนื้อเยื่อ เป็นต้น ถูกอนุมูลอิสระทำลาย จึงอาจสรุปได้ว่าแอปริคอตมีประโยชน์ในการปกป้องตับ โดยการส่งเสริมระบบต้านต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของแอปริคอตในการส่งเสริมระบบต้านอนุมูลอิสระและป้องกันตับจากกระบวนการที่ส่งผลเสียต่อตับ เช่น การอักเสบ

อาจช่วยกระตุ้นะบบทางเดินอาหาร

แอปริคอตประกอบไปด้วยไฟเบอร์หรือใยอาหารชนิดละลายน้ำที่ส่งผลดีต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ และช่วยลดปริมาณแบคทีเรียชนิดไม่ดีและสิ่งตกค้างอื่น ๆ ในลำไส้ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด รักษาระดับน้ำตาลในเลือด และส่งผลดีต่อการลดน้ำหนัก

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences ตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของใยอาหารในแอปริคอตญี่ปุ่นหรือบ๊วยต่อการทำงานของลำไส้และจุลินทรีย์ในลำไส้ พบว่า บ๊วย (Japanese Apricot)  ซึ่งเป็นผลไม้ตระกูลพรุน ที่ผลมีเมล็ดเดี่ยวและแข็งเช่นเดียวกับแอปริคอตอุดมไปด้วยไฟเบอร์ จึงมีส่วนช่วยในการขับถ่าย ส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้ ที่ทำหน้าที่กระตุ้นและขับเคลื่อนอุจจาระในลำไส้และช่วยให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของผลไม้ตระกูลนี้ในการกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย

ข้อควรระวังในการบริโภค แอปริคอต

แม้การรับประทานแอปริคอตจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ผลข้างเคียงจากการได้รับสารอะมิกดาลิน (Amygdalin) ในเมล็ดแอปริคอตมากเกินไป ที่อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ มีไข้ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กระหายน้ำ ง่วงซึม หงุดหงิด ปวดข้อและกล้ามเนื้อ และความดันโลหิตลดลง

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Apricots, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/171697/nutrients. Accessed May 12, 2022

Apricots: Health Benefits, Nutrition, and Uses. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-apricots. Accessed May 12, 2022

Analysis of Phenolic Compounds and Some Important Analytical Properties in Selected Apricot Genotypes. https://journals.ashs.org/hortsci/view/journals/hortsci/56/11/article-p1446.xml. Accessed May 12, 2022

Hepatoprotective effect and antioxidant role of sun, sulphited-dried apricot (Prunus armeniaca L.) and its kernel against ethanol-induced oxidative stress in rats. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21115094/. Accessed May 12, 2022

Effects of new dietary fiber from Japanese Apricot (Prunus mume Sieb. et Zucc.) on gut function and intestinal microflora in adult mice. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21731428/. Accessed May 12, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/11/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้สําหรับคนเป็นเบาหวาน กินอะไรดีต่อสุขภาพ

ไม่กินผักและผลไม้ รู้ไหมอันตรายต่อสุขภาพมากแค่ไหน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา