backup og meta

สูตรซอสโหระพา

สูตรซอสโหระพา

ซอสโหระพานั้น อาจจะเป็นซอสที่ไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นปากคนไทยกันสักเท่าไหร่ ซอสโหระพา หรือที่เรียกว่า ซอสเพสโต (Pesto Sauce) เป็นซอสที่ประกอบไปด้วยใบโหระพาสด น้ำมันมะกอก กระเทียม ถั่วเม็ดสน และพาเมซานชีส (Parmesan) ซอสโหระพามักจะใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เมนูต่างๆมากมาย วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาแนะนำ สูตรซอสโหระพา ให้ทุกคนได้ลองทำตามกันดู

ประโยชน์สุขภาพเด็ดๆ จากซอสโหระพา

ซอสโหระพาเป็นซอสที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ซอสโหระพา ¼ ถ้วย จะมีวิตามินเอที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันมากถึง 15% นอกจากนี้ยังมีวิตามินซีที่มีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างกล้ามเนื้ออีก 6% แคลเซียม 20% ธาตุเหล็ก และฟลาโวนอยด์ (flavonoid) สารประกอบที่สำคัญต่อโครงสร้างเซลล์และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ

โหระพาเป็นพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารอิตาลีและอาหารไทย ทั้งยังเป็นส่วนผสมหลักของซอสโหระพา ในอดีตเคยมีการใช้โหระพาเป็นสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์ เนื่องจากสรรพคุณในการช่วยต่อต้านการอักเสบ ลดอาการบวม ช่วยต่อต้านแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ใบโหระพา 100 กรัมนั้นมีแคลอรี่แค่เพียง 22 แคลอรี่ แต่อัดแน่นไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆอีกมากมาย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าซอสโหระพา อาจจะมีสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่อย่างมากมาย แต่ซอสนี้ก็มีไขมันและแคลอรี่สูงมากด้วยเช่นกัน เนื่องจากส่วนประกอบหลักของซอสโหระพานั้น คือ น้ำมันมะกอก ถั่วเม็ดสน และพาเมซานชีส ซึ่งต่างก็เป็นวัตถุดิบที่มีแคลอรี่สูงในตัวอยู่แล้ว

ซอสโหระพา ¼ ถ้วยจะมีปริมาณแคลอรี่มากถึง 270 แคลอรี่ และมีไขมันกว่า 23 กรัม แต่ไขมันที่อยู่ในซอสโหระพาส่วนใหญ่นั้น จะเป็นไขมันที่ไม่อิ่มตัว จึงทำให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพของหัวใจและช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย

ซอสโหระพามักจะนำไปใช้ประกอบอาหารอื่นๆ เช่น ผสมกับเนยทำเป็นเนยซอสโหระพาแล้วทาขนมปัง ใส่ลงในพาสต้าที่ต้มสุกทำเป็นพาสต้าซอสโหระพา ผสมลงในมีทบอลเพื่อเพิ่มสารอาหารให้กับมีทบอล หรือทำพิซซ่าโดยใช้ซอสโหระพาใช้แทนซอสพิซซ่า ก็จะได้เมนูใหม่ๆรสชาติดีและมีประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สูตรซอสโหระพา

สูตรซอสโหระพา

วัตถุดิบ

  1. โหระพา ประมาณ 1 กำมือ
  2. ถั่วเม็ดสน (Pine nut) 20 กรัม
  3. น้ำมันมะกอก ประมาณ ½ ถ้วย
  4. ปลาแอนโชวี่ 1 ตัว
  5. พาเมซานชีส ตามใจชอบ
  6. เกลือ
  7. พริกไทย

วิธีทำ

  1. นำส่วนผสมทั้งหมด ยกเว้นน้ำมันมะกอกใส่ลงในเครื่องปั่น
  2. เริ่มปั่นให้หยาบ ค่อยๆ ใส่น้ำมันมะกอกลงไปทีละน้อยจนได้ความข้นที่ต้องการ
  3. ปั่นให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันอย่างละเอียด
  4. ชิมและปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย
  5. หากต้องการให้ซอสโหระพามีความหอมมากกว่านี้ อาจใช้เป็นวิธีตำแทนการปั่น โดยเริ่มจากตำใบโหระพาให้ละเอียด
  6. ค่อยๆ ใส่วัตถุดิบอื่นๆ ตามลงไป ตำให้เข้ากัน ปรับความข้นเหลวของซอสตามปริมาณของน้ำมันมะกอก แล้วปรุงรสชาติให้ถูกใจ

ซอสโหระพา เป็นซอสที่ช่วยเพิ่มรสชาติและคุณค่าทางสารอาหารให้แก่มื้ออาหารของคุณ แต่การรับประทานซอสโหระพามากจนเกินไปก็อาจนำมาซึ่งโทษได้เช่นกัน เนื่องจากในตัวซอสโหระพานั้นมีปริมาณของเกลือค่อนข้างเยอะ ทั้งจากเกลือและจากพาเมซานชีส

มีรายงานพบว่า ปริมาณของเกลือที่พบได้ในซอสโหระพาแบบสำเร็จรูปนั้นพุ่งขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆโดยมีค่าเฉลี่ยที่พบว่า ในซอสโหระพาในหนึ่งมื้อนั้นจะมีเกลืออยู่ประมาณ 1.5 กรัม มากกว่าแฮมเบอร์เกอร์ของร้านฟาสต์ฟู้ดบางแห่งเสียอีก ดังนั้นควรรับประทานซอสโหระพาในปริมาณที่เหมาะสม และปรึกษาแพทย์หากคุณจำเป็นต้องควรคุมปริมาณของโซเดียมในอาหาร

 

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pesto, salad dressing and cous cous: the unhealthiest ‘healthy’ foods in your kitchen cupboard
https://www.telegraph.co.uk/health-fitness/nutrition/pesto-salad-dressing-cous-cous-unhealthiest-healthy-foods-kitchen/
Accessed 15 November 2019

Is Pesto Sauce Healthy?
https://www.livestrong.com/article/392582-is-pesto-sauce-healthy/
Accessed 15 November 2019

Why everyone should eat basil
https://www.medicalnewstoday.com/articles/266425.php
Accessed 15 November 2019

ซอสโหระพา (เพสโต้ซอส) Pesto Sauce
http://www.foodtravel.tv/recipe.aspx?viewid=353
Accessed 15 November 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

กินอย่างไรเมื่อ ระบบย่อยอาหาร มีปัญหา

สารอาหารวัยทำงาน ที่เหมาะสมตามช่วงอายุ มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา