ร่างกายต้องกินอาหารเพื่อได้รับพลังงาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติมากที่คุณจะรู้สึกหิว ถ้าไม่ได้กินอาหารเป็นเวลานาน แต่ถ้าคุณรู้สึก หิวตลอดเวลา แม้ว่าจะเพิ่งกินอาหารเสร็จไปก็ตาม อาจหมายถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างก็ได้ นอกจากนี้อาการหิวตลอดเวลาอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
กินโปรตีนไม่เพียงพอ
การกินโปรตีนให้เพียงพอสำคัญต่อการควบคุมความอยากอาหาร เนื่องจาก โปรตีนมีคุณสมบัติในการลดความหิว ที่อาจช่วยให้คุณกินอาหารน้อยลงโดยอัตโนมัติในช่วงระหว่างวัน โดยโปรตีนจะเพิ่มการผลิตฮอร์โมนที่ส่งสัญญาณบอกสมองว่าคุณอิ่ม และยังช่วยลดระดับฮอร์โมนที่กระตุ้นความหิวด้วย
ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองหิวบ่อย อาจเกิดจากการได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินจำนวน 14 คน โดยให้กินโปรตีน 25% ของแคลอรี่ที่ได้รับต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างสามารถลดความอยากกินขนมในตอนกลางคืนได้ 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่บริโภคโปรตีนน้อยกว่า
อาหารที่โปรตีนสูงมีหลายอย่าง ดังนั้นจึงไม่ยากเลยที่จะได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน และการกินโปรตีนในทุกๆ มื้ออาหารยังสามารถช่วยป้องกันความหิวที่มากจนเกินไปอีกด้วย โดยแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ ไข่ และปลา นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว เช่นนมและโยเกิร์ต รวมถึงแหล่งโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว และธัญพืชเต็มเมล็ด
กินอาหารไขมันต่ำ
งานวิจัยที่ทดลองในผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างอ้วน 270 คน พบว่าผู้ที่กินอาหารไขมันต่ำ รู้สึกอยากกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่บริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ
มากไปกว่านั้น กลุ่มที่กินอาหารไขมันต่ำยังรายงานว่า รู้สึกหิวมากกว่าเดิม เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่กินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ
ดังนั้นจึงควรกินไขมันในปริมาณที่เหมาะสม และเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ โดยมีอาหารหลายอย่างที่อุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไขมันโอเมก้า 3 ที่พบในปลาแซลมอน และปลาทูน่า รวมถึงคุณสามารถกินไขมันที่มีประโยชน์จากอโวคาโด น้ำมันมะกอก ไข่ และโยเกิร์ต
นอนหลับไม่เพียงพอ
การนอนหลับอย่างเพียงพอสำคัญต่อสุขภาพ โดยอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและโรคมะเร็ง มากไปกว่านั้น การนอนหลับอย่างเพียงพอยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมความอยากอาหาร เนื่องจากการนอนหลับช่วยควบคุมการทำงานของฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นความอยากอาหาร ดังนั้นการนอนหลับไม่เพียงพอ หรืออดนอน จึงอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเกรลินสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คุณรู้สึกหิวมากกว่าเดิม หากคุณนอนหลับไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย ที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 15 คน ที่นอนหลับไม่เพียงพอเพียง 1 คืน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างรายงานว่ารู้สึกหิวมากกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ และเลือกกินอาหารในปริมาณมากกว่าเดิม 14% เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่นอนหลับเป็นเวลา 8 ชั่วโมง
เนื่องจากการนอนหลับอย่างเพียงพอ สามารถช่วยให้ระดับฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่ม ทำงานได้อย่างเป็นปกติ การนอนไม่พอจึงอาจทำให้คุณหิวตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ควรอดนอน
เครียดและกังวล
เมื่อคุณเครียดหรือกังวล ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งสามารถทำให้คุณรู้สึกหิวได้ หลายคนที่เครียดมักจะรู้สึกอยากกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง และอาหารไขมันสูง เนื่องจากอาจเป็นความพยายามของร่างกายที่จะปิดการทำงานของสมองในส่วนที่ทำให้คุณรู้สึกกังวล ความเครียด นอกจากจะทำให้คุณมีอาการหิวตลอดเวลาแล้ว ยังอาจทำให้คุณมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- มีปัญหาการนอนหลับ
- ไม่สบายท้อง
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ทำให้ผิวดีและระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร สามารถลดความอยากอาหารได้
และยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 14 คนที่ดื่มน้ำวันละ 2 แก้วก่อนมื้ออาหาร งานวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างกินอาหารน้อยลง 600 แคลอรี่ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มน้ำ
ดังนั้นการที่คุณรู้สึกหิวตลอดเวลา อาจเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจกินอาหารที่มีน้ำมาก เช่น ผักและผลไม้ เพื่อให้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอต่อวัน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]