อาหารไม่ย่อย เป็นอาการที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินพอดี รับประทานอาหารผิดเวลา หรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง ทำให้อาหารไม่สามารถย่อยและเคลื่อนตัวต่อไปยังลำไส้เล็กได้อย่างปกติ อาหารไม่ย่อยอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น กรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร หรือนิ่วในถุงน้ำดี หากมีอาการอาหารไม่ย่อย อึดอัดแน่นท้อง หรือแสบร้อนในกระเพาะอาหาร ควรหาสาเหตุเพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที
อาหารไม่ย่อย คืออะไร
อาหารไม่ย่อย หรืออาการปวดท้องจากอาหารไม่ย่อย คืออาการแสบร้อนบริเวณท้องช่วงบน หรือบริเวณกระดูกทรวงอกช่วงล่าง อาจมีอาการปรากฏขึ้นเป็นบางครั้งหรือบ่อยครั้ง บางครั้งอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณภายในทรวงอก อาหารไม่ย่อยมักเป็นสัญญาณบอกถึงปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร และนิ่วในถุงน้ำดี แตกต่างกับอาการแสบร้อนกลางอกซึ่งมักก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้หรือท้องอืด
อาการอาหารไม่ย่อยที่รุนแรงอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของระบบย่อยอาหารอย่างถาวร เช่น ก่อให้เกิดแผลเป็นในหลอดอาหาร หรือทางเดินอาหารสู่กระเพาะ อาการอาหารไม่ย่อยเกิดขึ้นได้กับในทุกช่วงวัย ทั้งนี้อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ควบคู่ไปด้วย
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มากเกินไป
- รับประทานยาแอสไพริน หรือยาแก้ปวดที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารบ่อยครั้ง
- มีอาการที่สร้างความผิดปกติกับทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร
- เครียดและวิตกกังวล
อาการอาหารไม่ย่อย
อาการอาหารไม่ย่อยอาจเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังจากรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ความเครียดเเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อาการแย่ลง อาการต่อไปนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการอาหารไม่ย่อย
- รู้สึกอึดอัด ไม่่สบายและหนักท้อง
- เรอเปรี้ยว
- มีอาการไหลย้อนกลับของอาหารหรือของเหลวกลับสู่หลอดอาหาร
- ท้องอืด (มักไม่ปรากฏ)
- คลื่นไส้และอาเจียน (มักไม่ปรากฏ)
แม้จะมีวิธีรักษาอาการอาหารไม่ย่อยและยาที่ช่วยรักษาอาการได้ก็ตาม แต่อาหารไม่ย่อยอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงอื่นๆ ดังนั้น ควรพบแพทย์หากพบภาวะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
- อายุ 55 ปีหรือมากกว่า
- น้ำหนักตัวลดลงมากอย่างไม่มีสาเหตุ
- กลืนอาหารได้ยากลำบาก
- อาเจียนบ่อยครั้ง
- เป็นโรคโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก
- พบต่อมหรือก้อนในกระเพาะอาหาร
- อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระมีเลือดปน
สาเหตุของอาหารไม่ย่อย
โดยปกติแล้วกระเพาะอาหารจะสร้างกรดขึ้นมาเพื่อช่วยในการย่อยอาหารที่ทานเข้าไป อย่างไรก็ตาม บางครั้งกรดอาจสร้างความเสียหายให้แก่ผนังลำไส้ ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและระคายเคือง อาหารไม่ย่อยอาจได้รับการกระตุ้นหรือมีอาการแย่ลงจากปัจจัยอื่นๆ
สาเหตุหลักของการเกิดอาหารไม่ย่อยคือการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเกินไปหรือรับประทานอาหารขณะที่เกิดความเครียด อีกสาเหตุหนึ่งคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์หรือการสูบบุหรี่ รวมถึงความเครียดและความเหนื่อยล้าล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการอาหารไม่ย่อยแย่ลง
หากมีน้ำหนักตัวมากเกินปกติ ก็นับว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นอาหารไม่ย่อยเนื่องจากความดันที่เพิ่มขึ้นในกระเพาะอาหาร
โรคที่ก่อให้เกิดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารหรือเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารทำงานผิดปกติทำให้อาหารไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้ โรคบางอย่างที่ก่อให้เกิดอาหารไม่ย่อย ได้แก่
- แผลในกระเพาะอาหาร
- โรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (พบได้ไม่บ่อยนัก)
- อาการ Gastroparesis (ภาวะที่กล้ามเนื้อกระเพาะทำงานน้อยลง มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน)
- การติดเชื้อในกระเาพะอาหาร
- กลุ่มโรคลำไส้แปรปรวน
- โรคตับเรื้อรัง
- ไทรอยด์
- ตั้งครรภ์
การใช้ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาหารไม่ย่อย เช่น ยาไนเตรท ช่วยในการขยายหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้หลอดอาหารคลายตัวส่งผลให้เกิดการไหลย้อนของกรด
หากมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ไม่ควรรับประทานยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน และไอบูโพรเฟน เนื่องจากก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหารและเป็นสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย ทั้งนี้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน ยาบางชนิดที่ไม่ควรรับประทานเพื่อหลีกเลี่ยงอาการอาหารไม่ย่อย ได้แก่
- แอสไพริน และยาแก้ปวดอื่นๆ เช่น ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้แก่ ไอบูโพรเฟน (ชื่อทางการค้า Motrin หรือ Advil) และ นาพรอกเซน (นาพรอกซิน )
- เอสโตรเจน และยาเม็ดคุมกำเนิด
- ยากลุ่มสเตียรอยด์
- ยาปฏิชีวนะ
- ยารักษาโรคไทรอยด์
วิธีรักษาอาหารไม่ย่อย
บ่อยครั้งอาหารไม่ย่อยมักหายเองได้โดยไม่ต้องรับประทานยา อย่างไรก็ตามหากมีอาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดอาการ เช่น อาหาร และกิจกรรมต่อไปนี้เพื่อรักษาอาการอาหารไม่ย่อย
- พยายามไม่เคี้ยวอาหารในขณะที่อ้าปาก การเคี้ยวอาหารในขณะพูดหรือรับประทานเร็วเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการกลืนอากาศเข้าไปเป็นจำนวนมากส่งผลให้อาหารไม่ย่อยแย่ลง
- ดื่มน้ำหลังจากรับประทานอาหารเสร็จดีกว่าการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
- เลิอกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
หากอาการอาหารไม่ย่อยไม่ดีขึ้นภายหลังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เนื่องจากอาหารไม่ย่อยเป็นลักษณะของอาการมากกว่าโรค การรักษาจึงเป็นไปตามสาเหตุ
เคล็ดลับในการรับมือกับอาหารไม่ย่อย
หากอาหารไม่ย่อยเนื่องจากโรคอื่นๆ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและวิธีรับมือ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการอาหารไม่ย่อย
อาหารไม่ย่อยมักดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่ช่วยรับมืออาหารไม่ย่อย
รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
ภาวะน้ำหนักเกินส่งผลให้กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น พยายามควบคุมน้ำหนักโดยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
พยายามลดปริมาณอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด หรืออาหารที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา หรือ โค้ก เพื่อป้องกัน อาหารไม่ย่อย
เลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์
สารเคมีในบุหรี่และแอลกอฮอลล์ส่งผลต่อการคลายตัวของหูรูดปิดหลอดอาหาร ก่อให้เกิดอาการกรดไหลย้อน
สร้างกิจวัตรในการนอนที่ดี
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารภายใน 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน ในขณะที่นอนหลับ หูรูดปิดหลอดอาหารจะคลายตัวมากขึ้น การรับประทานอาหารก่อนนอนส่งผลให้กระเพาะสร้างกรดซึ่งเพิ่มความเสี่ยงกรดไหลย้อน อาจใช้หมอนสักสองสามใบรองใต้ศีรษะหรือหัวไหล่ จะช่วยป้องกันการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารสู่ทางเดินอาหารขณะหลับได้
[embed-health-tool-bmr]