เบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะชั่วคราวที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด เกิดจากร่างกายคุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจรับมือได้ด้วยการเลือกรับประทาน อาหาร ลด เบาหวาน ขณะ ตั้ง ครรภ์ เช่น อาหารที่มีโปรตีนไขมันต่ำ ผักและผลไม้ไม่มีแป้ง อาหารที่มีไขมันดี รวมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ ให้ส่งเสริมสุขภาพยิ่งขึ้น เช่น ขยับร่างกายหรือออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์
[embed-health-tool-bmi]
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สาเหตุ เกิดจากอะไร
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 24-32 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากหญิงตั้งครรภ์มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปจนนำไปสู่โรคเบาหวาน แม้โดยทั่วไประดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงเป็นปกติหลังคลอด แต่โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในช่วงหลังคลอดหรือในอนาคตได้ จึงควรไปตรวจสุขภาพตามคำแนะนำของคุณหมอเป็นระยะ
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
- มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- เคยคลอดทารกน้ำหนัก 4.5 กิโลกรัมขึ้นไป
- เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
- มีคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นเบาหวาน
เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม
หากผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และเด็กในครรภ์ได้ ดังนี้
- ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวเยอะเกินเกณฑ์ ทารกในครรภ์อาจมีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์หรือมากกว่า 4 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งทำให้คลอดยาก และอาจต้องผ่าคลอดหรือใช้วิธีเร่งคลอด
- ทารกแรกเกิดมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากทารกเคยชินกับระดับน้ำตาลในเลือดสูงตอนอยู่ในครรภ์ ร่างกายจึงหลั่งอินซูลินมากเกินความจำเป็น และเผาผลาญน้ำตาลมากกว่าปกติ จนส่งผลให้เด็กมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ภาวะคลอดก่อนกำหนด ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติในขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ได้
- ภาวะครรภ์แฝดน้ำหรือภาวะน้ำคร่ำมากเกินไป (Polyhydramnios) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีน้ำคร่ำมากเกินจนถุงน้ำคร่ำขยายตัว อาจทำให้คุณแม่แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ขาบวม ในกรณีรุนแรง อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือตกเลือดหลังคลอดได้
- ภาวะตายคลอด (Stillbirth) เป็นภาวะเกิดขึ้นเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วไม่มีสัญญาณชีพ หรือคคลอดออกมาแล้วตายทันที แต่ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
- ปัญหาสุขภาพของเด็กหลังคลอด เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กเสี่ยงเกิดโรคอ้วนและเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากหญิงตั้งครรภ์สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมได้ ก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และสามารถตั้งครรภ์ไปจนถึงกำหนดคลอดได้อย่างปลอดภัย
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
- 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า ก่อนรับประทานอาหาร
- 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
- 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง
อาหาร ลด เบาหวาน ขณะ ตั้ง ครรภ์
อาหารที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดหรือลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ อาจมีดังนี้
โปรตีนไขมันต่ำ ช่วยให้รู้สึกอิ่มนาน ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง และช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- อกไก่
- เนื้อแดงไม่ติดมัน
- ปลาที่มีไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู
- นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มีไขมันต่ำ
- ไข่
- เต้าหู้และเทมเป้ (ถั่วเหลืองหมัก) ที่ผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้และมั่นใจว่าปราศจากเชื้อรา
ผักไม่มีแป้ง (Non-starchy vegetables) เป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตน้อย ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดรวมทั้งไฟเบอร์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ช่วยลดอาการท้องผูกที่เกิดขึ้นบ่อยขณะตั้งครรภ์
- กะหล่ำปลี
- กะหล่ำดอก
- คะน้า
- ปวยเล้ง
- บรอกโคลี
- ผักกาดขาว
- พริกหวาน
- มะเขือเทศ
อาหารที่มีไขมันดี อาหารที่มีไขมันดี เช่น ไขมันไม่อิ่มตัวอย่างโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 เป็นแหล่งพลังงานที่ดี ช่วยในการเจริญเติบโตและช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ทั้งยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low density lipoprotein หรือ LDL) ซึ่งอาจลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูงของคุณแม่ตั้งครรภ์ได้
- อะโวคาโด
- มะกอก
- พืชตระกูลถั่ว เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง
- เมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดเจีย เมล็ดแฟลกซ์
- น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโนล่า น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์
- ไข่
วิธีลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การดูแลตัวเองเพื่อลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทั้งยังช่วยลดความรู้สึกไม่สบายตัวที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง ตัวบวม ขาบวม ท้องผูก นอนไม่หลับ ทั้งนี้ ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมเกินไป เพราะอาจกระทบต่อสุขภาพทารกในครรภ์ได้
- เลือกของหวานให้เหมาะสม หากต้องการรับประทานของหวานหรือขนม ควรเลือกรับประทานของว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โยเกิร์ตไม่มีน้ำตาล ถั่วไม่ปรุงรส เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำอย่างฝรั่ง แก้วมังกร กล้วยน้ำว้าห่าม ในปริมาณพอเหมาะแทนการรับประทานช็อกโกแลต บิสกิต เค้ก หรือมันฝรั่งทอดที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ใช้เครื่องตรวจเบาหวานเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวัน โดยความถี่ของการตรวจอาจแตกต่างไปในแต่ละคน ซึ่งการวัดระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้สามารถวางแผนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมขึ้น ซึ่งอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติได้