ไขมันอิ่มตัว เป็นโมเลกุลไขมันที่ไม่ซับซ้อน และแข็งตัวในอุณหภูมิห้อง เช่น ไขมันเนื้อสัตว์ ไขมันหมู การรับประทานไขมันอิ่มตัวอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น โรคหัวใจ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง และปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม
ไขมันอิ่มตัว (Saturated Fats) คือ โมเลกุลไขมันที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีพันธะคู่ระหว่างโมเลกุลของคาร์บอน เนื่องจากอิ่มตัวด้วยโมเลกุลของไฮโดรเจน โดยปกติ ไขมันอิ่มตัวจะแข็งในอุณหภูมิห้อง และเกิดขึ้นตามธรรมชาติในอาหารหลายชนิด โดยส่วนใหญ่มาจากแหล่งอาหารที่เป็นสัตว์ เช่น
- เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู เนื้อสัตว์ไก่ติดหนัง
มันวัว (Tallow) น้ำมันหมู เนย ชีส ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว นอกจากนี้ อาหารทอดและอาหารอบก็อาจมีไขมันอิ่มตัวสูงได้เช่นกัน รวมถึงน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ก็อาจมีไขมันอิ่มตัวแต่จะไม่มีคอเลสเตอรอล (Choresterol)
ไขมันอิ่มตัวส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือ
การกินไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันที่พบในเนื้อสัตว์ ชีส และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้ ดังนั้น จึงควรเลือกกินไขมันที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น ไขมันจากถั่ว เมล็ด ปลา ผัก นอกจากนี้ สมาคมโรคหัวใจในสหรัฐอเมริกายังเผยว่า การกินไขมันอิ่มตัวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ รวมถึงอาจจะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย ซึ่งการมีคอเลสเตอรอลสูงอาจสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ อีกทั้งไขมันอิ่มตัวยังอาจเพิ่มปริมาณไขมันไม่ดี (LDL) ได้ แต่ก็อาจเพิ่มไขมันดี (HDL) ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างไขมันอิ่มตัวกับโรคหัวใจ จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกินไขมันอิ่มตัวส่งผลต่อโรคหัวใจ
ข้อควรระวังในการบริโภคไขมันอิ่มตัว
สมาคมโรคหัวใจในสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ควรกินไขมันอิ่มตัวในปริมาณ 5-6% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน เช่น ใน 1 วัน ควรกินอาหาร 2,000 กิโลแคลอรี่ จึงอาจกินไขมันอิ่มตัวได้ไม่เกิน 120 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรือประมาณ 13 กรัม/วัน นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำในการกินไขมันอิ่มตัว ดังนี้
- เลือกกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และเนื้อสัตว์ปีกไม่เอาหนัง
- กินไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งพบมากในอาหาร เช่น น้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ หรือถั่ว เช่น ถั่วเหลือง
- กินผัก ผลไม้ และธัญพืชเต็มเมล็ด
- จำกัดปริมาณการกินเนื้อแดง รวมถึงอาหารและน้ำดื่มที่มีน้ำตาลสูง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน อาจต้องจำกัดปริมาณการกินไขมันอิ่มตัว และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงพันธุกรรม (Familial Hypercholesterolemia) ควรปรึกษาคุณหมอหากต้องการกินไขมันอิ่มตัว