backup og meta

โรคลายม์ (Lyme Disease)

โรคลายม์ (Lyme Disease)

โรคลายม์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่เกิดจากการถูกเห็บกัด อาการจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 3-30 วันหลังจากถูกกัด และลักษณะอาการอาจะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ

คำจำกัดความ

โรคลายม์คืออะไร

โรคลายม์ (Lyme Disease) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า บอร์เรลเลีย เบิร์กดอร์เฟอไร (Borrelia burgdorferi) การติดเชื้อเกิดจากการถูกเห็บกัด อาการจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 3-30 วันหลังจากถูกกัด และลักษณะอาการอาจะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐฯ โอกาสในการติดเชื้อลายม์จากการถูกเห็บกัด ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเห็บประเภทใด คุณอยู่ที่ใดขณะถูกกัด และเห็บกัดคุณเป็นเวลานานแค่ไหน เห็บชนิด Black-legged จะต้องกัดคุณอยู่ถึง 24 ชั่วโมงในการแพร่เชื้อลายม์

โรคลายม์พบบ่อยแค่ไหน

โรคลายม์เป็นโรคที่พบได้บ่อย จากข้อมูลของกรมควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ จำนวนผู้ที่ติดเชื้อโรคลายม์ 30,000 คน ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก และจากผลการประเมินล่าสุด กรมควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริการายงานว่า ชาวอเมริกันเป็นโรคลายม์สูงถึง 3 แสนคนต่อปี ควรปรึกษาเแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของโรคลายม์

อาการของโรคลายม์ที่พบบ่อย มีดังนี้

  • หนาวสั่น
  • เวียนศีรษะ
  • เป็นไข้
  • ข้อต่อบวม
  • กล้ามเนื้อใบหน้าขาดความกระชับ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปัญหาเกี่ยวกับความจำ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อาการชา
  • ใจสั่น
  • อาการปวดร้าว
  • คอแข็ง
  • อาการเสียวแปลบ

บางคนอาจมีอาการหรือสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับโรคลายม์ ดังนี้

  • ผื่นแดง
  • ปวดข้อต่อ
  • ปวดศีรษะ

อาจมีอาการอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาการของโรค ควรติดต่อแพทย์

ควรพบหมอเมื่อใด

ผื่นแดงเป็นสัญญาณเตือนที่ดีเมื่อคุณถูกกัด และการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอาจได้ผลในขั้นนี้ แต่หากเกิดอาการที่กล่าวไว้ข้างต้นควรรีบพบแพทย์ อาจมีอาการอื่นๆ ของโรคที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรค ควรปรึกษาแพทย์

สาเหตุ

สาเหตุของโรคลายม์

ในสหรัฐอเมริกา แบคทีเรียสองชนิดที่ทำให้เกิดโรคลายม์ ได้แก่ แบคทีเรียบอร์เรลีย เบอร์กดอร์เฟรี (Borrelia burgdorferi) และ บอร์เรเลีย เมยอนไน (Borrlelia mayonii) ซึ่งมีเห็บชนิด black-legged หรือ deer ticks เป็นพาหะ เห็บชนิดนี้มีสีน้ำตาลและตัวเล็กกว่าเมล็ดฝิ่นในช่วงแรก ซึ่งทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นตัวเห็บได้

การติดเชื้อโรคลายม์เกิดจากการถูกเห็บกัด แบคทีเรียจะเข้าสู่ผิวหนังและผ่านไปยังกระแสเลือดในที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียต้องถูกเห็บกัดอยู่นานถึง 36-48 ชั่วโมง หากคุณพบตัวเห็บที่ขยายใหญ่ นั่นแปลว่าเห็บได้กัดคุณเป็นเวลานานพอที่จะแพร่เชื้อแบคทีเรียได้ การดึงตัวเห็บออกโดยเร็ว อาจป้องกันการติดเชื้อได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลายม์

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคลายม์ มีดังนี้

  • ใช้เวลานานอยู่ในป่าหรือบริเวณที่หญ้าขึ้นรก ในสหรัฐอเมริกา เห็บชนิด deer ticks มีแพร่หลายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางพื้นที่ตะวันตกของกลางประเทศ ที่ซึ่งมีพื้นที่ป่าที่เห็บชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ได้ เด็กที่เล่นในที่กลางแจ้งบริเวณนี้มีความเสี่ยงในการถูกเห็บกัดได้ หรือผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานกลางแจ้งก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เห็บจะเกาะผิวหนังที่ไม่ได้มีสิ่งใดปกปิด หากคุณอยู่ในบริเวณที่มีเห็บอยู่ทั่วไป ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดทั้งเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว อย่าปล่อยให้สัตรว์เลี้ยงของคุณไปเล่นบริเวณที่มีหญ้าหรือวัชพืชขึ้นรก
  • ไม่ดึงตัวเห็บออกหรือทำไม่ถูกต้อง แบคทีเรียที่อยู่ในตัวเห็บจะเข้าสู่กระแสเลือด หากเห็บกัดคุณนานถึง 36-48 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น หากคุณดึงเห็บออกภายในสองวัน โอกาสที่จะเป็นโรคลายม์ยังคงต่ำอยู่

การวินิจฉัยและรักษาโรค

ข้อมูลเหล่านี้ไม่เจตนาให้ใช้แทนคำปรึกษาทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคลายม์

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากอาการและประวัติการพบตัว รวมถึงการตรวจเลือด 2 ขั้นตอน สามารถช่วยในการตรวจวินิจฉัยได้ หากทำอย่างถูกวิธีตามรายงานของกรมควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความแน่นอนของผลเลือดอยู่ที่ระดับของโรค ในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังจากติดเชื้อ ผลอาจเป็นลบ เนื่องจากแอนติบอดี้ต้องใช้เวลาสองถึงสามสัปดาห์ในการสร้าง ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคลายม์ที่ยังไม่มีอาการตรวจทดสอบ

การรักษาโรคลายม์

การรักษาโรคลายม์มักใช้ยาปฏิชีวนะ โดยทั่วไป หากรีบเข้ารับการรักษา การรักษาจะใช้เวลาสั้นและสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว

ยาปฏิชีวนะ

  • ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน การรักษาโรคลายม์ระยะเริ่มต้นมักใช้ยาดอกซี่ไซคลิน (doxycycline) สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 8 ขวบหรือยาอะมอกซีซิลิน (amoxicillin) หรือยาเซฟูรอกซิม (cefuroxime) สำหรับผู้ใหญ่ เด็กเล็กหรือสตรีมีครรภ์หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาเหล่านี้อยู่ที่ 14 ถึง 21 วัน แต่มีการศึกษาพบว่า การใช้ยา 10-14 วันก็ให้ผลการรักษาที่เท่ากัน
  • ยาปฏิชีวนะสำหรับฉีด หากเชื้อแพร่กระจายไปถึงระบบสมองส่วนกลาง แพทย์อาจใช้การฉีดยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 14-28 วัน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาการติดเชื้อ แม้ว่ายังคงมีอาการของโรคอยู่และอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูก็ตาม การฉีดยาปฏิชีวนะสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวลดจำนวนลง อาการท้องร่วงเล็กน้อยถึงรุนแรงหรือ ภาวะที่เชื้อโรคในร่างกายไม่เกิดการตอบสนอง หรือการติดเชื้อที่อวัยวะที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคลายม์ที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะ

หลังการรักษา ผู้ป่วยบางรายยังคงมีอาการอยู่ เช่น ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย สาเหตุของอาการต่อเนื่องที่เรียกว่า อาการหลังการรักษาโรคลายม์ ยังไม่ทราบแน่ชัด และการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหลายตัวไม่ช่วยให้การรักษาดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางท่านลงความเห็นว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคลายม์นั้นมีแนวโน้มที่สามารถสร้างภูมิต้านตนเอง ที่ก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ แต่ยังคงมีความต้องการในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป

ยาบิสมาซีน (Bismacine)

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ออกคำเตือนเกี่ยวกับการใช้บิสมาซีน ซึ่งเป็นตัวฉาสำหรับฉีดที่แพทย์ทางเลือกสามารถเป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อรักษาโรคลายม์ได้ ยาบิสมาซีน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โครมาซีน (chromacine) ประกอบด้วยแร่โลหะบิสมัทปริมาณสูง แม้ว่าจะสามารถรับประทานยาตัวนี้เพื่อรักษาแผลในกระเพาะ แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า สามารถใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษาโรคลายม์ในรูปแบบการฉีดได้ ยาบิสมาซีนสามรถทำให้เกิดภาวะแร่โลหะบิสมัทเป็นพิษ ซึ่งนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวและไตวายได้

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเองเพื่อรับมือโรคลายม์

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยรับมือกับโรคลายม์ได้

  • ปกปิดร่างกาย เมื่อคุณอยู่ในบริเวณที่รกหรือหญ้าขึ้นสูง ควรสวมรองเท้า กางเกงขายาวและสวมถุงเท้าขึ้นมาทับบริเวณข้อเท้า สวมเสื้อแขนยาว หมวกและถุงมือ พยายามเดินบริเวณทางเดินและหลีกเลี่ยงการเดินลุยพุ่มไม้หรือกอหญ้า และจูงสุนัขของคุณตลอดเวลาที่เดิน
  • ใช้ยาไล่แมลง ทาหรือพ่นยาไล่แมลงที่มีปริมาณดีท หรือสารกันแมลง (DEET) ร้อยละ 20 หรือมากกว่า ผู้ปกครองควรทายาไล่แมลงให้ลูก อย่าให้ยาถูกมือ เข้าตาหรือปากของเด็ก ระลึกไว้เสมอว่ายาไล่แมลงก็มีโทษ จึงควรทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาเพอร์เมทริน (permethrin) กับเสื้อผ้า หรือซื้อเสื้อผ้าที่ผ่านการกำจัดสารเคมีแล้ว
  • จัดการบริเวณสนามหญ้าให้สะอาดไม่รกทึบ ตัดหญ้าและพุ่มไม้ซึ่งเป็นที่อยู่ของเห็บ และวางกองฟืนไว้บริเวณที่แดดส่องถึง
  • ตรวจดูว่ามีเห็บเกาะที่ร่างกายของตัวเอง ลูกๆหรือสัตว์เลี้ยงหรือไม่ ควรระแวดระวังเป็นพิเศษหลังจากเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่รกหรือหญ้าขึ้นสูง ขนาดของเห็บ Deer ticks นั้นไม่ใหญไปกว่าหัวเข็มหมุด ดังนั้นคุณอาจไม่พบตัวเห็บหากคุณไม่สังเกตให้ดี
  • อาบน้ำทันทีเมื่อเข้าบ้าน เห็บมักเกาะบริเวณผิวหนังอยู่เป็นชั่วโมงก่อนที่จะกัดคุณ การอาบน้ำและใช้ใยขัดผิวสามารถทำให้เห็บหลุดจากผิวได้
  • อย่ามั่นใจว่าคุณมีภูมิคุ้มกันโรคลายม์ เพราะคุณสามารถเป็นโรคลายม์ได้มากกว่าหนึ่งครั้ง
  • ใช้แหนบดึงเห็บออกทันทีที่พบ ค่อยๆ ดึงตัวเห็บบริเวณหัวหรือปากของมัน อย่าบี้หรือบีบเห็บแต่ดึงตัวเห็บออกอย่างช้าๆ เมื่อดึงตัวเห็บออกมาแล้ว ให้ฆ่าเห็บและใช้ยาฆ่าเชื้อทาบริเวณที่ถูกเห็บกัด

หากมีคำถามเกี่ยวกับโรค ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความเข้าใจในวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lyme disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lyme-disease/basics/definition/con-20019701. Accessed July 5, 2017.

Lyme disease 10 times more common than thought. http://www.health.harvard.edu/blog/lyme-disease-10-times-more-common-than-thought-201308206621. Accessed July 5, 2017.

Lyme Disease: What To Know This Season. http://www.webmd.com/rheumatoid-arthritis/arthritis-lyme-disease?page=1#1. Accessed July 5, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/08/2019

เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chayawee Limthavornrak


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้หวัดนก (H5N1) โรคระบาดอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง!

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป 'LAAB' เสริมภูมิประชากรกลุ่มเสี่ยง ป้องกันได้ 83%


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 28/08/2019

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา