backup og meta

ทำความรู้จักกับ อีโบลา โรคจากไวรัสร้ายคร่าชีวิต

ทำความรู้จักกับ อีโบลา โรคจากไวรัสร้ายคร่าชีวิต

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อโรคอีโบลา หรือไวรัสอีโบลากันมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วอีโบลาคืออะไร และโรคนี้อันตรายร้ายแรงแค่ไหน Hello คุณหมอ จึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับ อีโบลา โรคจากไวรัสหายากแต่อันตรายร้ายกาจที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด

อีโบลา คืออะไร

โรคอีโบลา หรือโรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease หรือ EVD) เดิมรู้จักกันในชื่อโรคไข้เลือดออกอีโบลา คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน ถือเป็นโรคร้ายแรงที่อันตรายถึงชีวิต โดยโรคนี้มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 90

ไวรัสอีโบลาถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1976 ในเขตชนบทห่างไกลในประเทศซูดาน และในหมู่บ้านริมแม่น้ำอีโบลา ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และแม่น้ำอีโบลาก็ได้กลายมาเป็นชื่อของโรคในเวลาต่อมา นับตั้งแต่นั้น โรคอีโบลาก็แพร่ระบาดไปทั่วทวีปแอฟริกา และมีผู้คนติดเชื้อเป็นระยะ

สาเหตุของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าค้างคาวผลไม้บางชนิดคือตัวพาหะของไวรัสอีโบลาตามธรรมชาติและเป็นตัวแพร่เชื้อ แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เช่น ชิมแปนซี กอริลลา ลิง เม่น แอนทิโลป รวมไปถึงมนุษย์ที่ติดเชื้อ ก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

มนุษย์ติดเชื้ออีโบลาได้อย่างไร

มนุษย์เราสามารถติดเชื้ออีโบลาได้จากการสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง เนื้อเยื่อ หรือของเหลวจากร่างกายของสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำนม น้ำลาย อสุจิ เหงื่อ โดยสามารถถ่ายทอดเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก จมูก ดวงตา บาดแผล และการมีเพศสัมพันธ์

กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อเป็นพิเศษได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น หมอ พยาบาล ที่ต้องทำการรักษาผู้ป่วยโรคอีโบลา เพราะต้องสัมผัสกับเลือดและของเหลวจากร่างกายผู้ป่วยโดยตรง นอกจากนี้ผู้ที่ฝังหรือเผาศพผู้ที่เสียชีวิตจากโรคอีโบลาก็มีโอกาสติดเชื้อสูงเช่นกัน

สัญญาณและอาการของโรค อีโบลา

สัญญาณและอาการของโรคอีโบลา ได้แก่

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เจ็บคอ
  • เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
  • ท้องร่วง
  • อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • เกิดภาวะเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น เลือดออก เป็นรอยช้ำ ผื่นแดง

โรคอีโบลามีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะปรากฏอาการในช่วงวันที่ 8-10 หลังจากสัมผัสกับไวรัส เนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคมาลาเรีย จึงอาจเกิดการเข้าใจผิดได้เช่นกัน

อาการแทรกซ้อนจากอีโบลา

ผู้ติดเชื้ออีโบลาบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น

  • มีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อ
  • ผมร่วง
  • มีภาวะเพ้อ
  • ตับอักเสบ และตาอักเสบ
  • การรับความรู้สึกเปลี่ยนไป
  • เป็นดีซ่าน

โดยผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ ไปจนถึง 2-3 เดือน และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย เช่น อวัยวะล้มเหลว มีอาการโคม่า เกิดภาวะช็อค เลือดออกรุนแรง

เราจะป้องกันโรคอีโบลาได้ไหม

หากคุณต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา คุณสามารถลดโอกาสติดเชื้อได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้

  • เลือดหรือของเหลว เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย เหงื่อ อาเจียน น้ำนม อสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด
  • สิ่งของที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน เข็ม อุปกรณ์การแพทย์
  • สถานที่ที่เคยประกอบพิธีศพให้ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคอีโบลา
  • ค้างคาว สัตว์ตระกูลลิงที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ลิง ชิมแปนซี กอริลลา รวมถึงเลือด ของเหลว และเนื้อจากสัตว์เหล่านั้น และเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบที่มาด้วย

เมื่อคุณกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาแล้ว ควรเฝ้าระวังอาการอย่างน้อย 21 วัน และหากสงสัยว่าตัวเองมีสัญญาณหรืออาการของโรคอีโบลา ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

แม้โรคอีโบลาจะเป็นโรคหายาก แต่ก็ร้ายแรงถึงชีวิต และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือวิธีรักษาโรคอีโบลาโดยเฉพาะ ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพาหะตามธรรมชาติของไวรัส การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันประชากรกลุ่มเสี่ยง และค้นหาวิธีรักษาที่ได้ผลต่อไป

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ebola (Ebola Virus Disease). https://www.cdc.gov/vhf/ebola/index.html. Accessed July 19, 2019

Ebola Virus Infection. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/ebola-fever-virus-infection. Accessed July 19, 2019

Ebola Virus and Disease. https://www.healthline.com/health/ebola-hemorrhagic-fever#complications. Accessed July 19, 2019

Ebola: What you need to know. https://www.medicalnewstoday.com/articles/280598.php. Accessed July 19, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 คำถามคาใจที่ใครๆ ควรรู้เกี่ยวกับ ไข้เลือดออก

ไวรัสซิกา ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา