โรคแมว หรือโรคที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนนั้นมีอยู่หลายโรคด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โรคเชื้อราแมว โรคแมวข่วน โรคบาดทะยัก เป็นต้น นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ จากแมวยังอาจทำให้เกิดโรคแบคทีเรียติดเนื้อ การติดเชื้อในกระแสเลือด ได้อีกด้วย ทาสแมวทั้งหลายไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาแมวไปตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนเป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้แมวมีสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อมายังเจ้าของอีกด้วย
[embed-health-tool-bmr]
โรคแมว ที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน
โรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงที่แพร่เชื้อมาสู่คนที่พบได้บ่อยมีดังนี้
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านการกัดและการข่วน เมื่อสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ที่มีเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) แพร่เชื้อไปยังมนุษย์ผ่านทางน้ำลาย ซึ่งจะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 4 วันไปจนถึง 4 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ หากได้รับการรักษาหรือฉีดวัคซีนตั้งแต่ตอนนี้ ผู้ติดเชื้อจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงระยะแสดงอาการ การฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้อีกต่อไป เพราะเชื้อเดินทางผ่านเซลล์ประสาทไปยังสมองและไขสันหลัง ทั้งยังสร้างความเสียหายที่ทำให้รักษาไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ อาจแบ่งระยะของอาการออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดเป็นเวลา 2-10 วัน เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามต่อสู้กับเชื้อ นอกจากนี้ จะมีอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละราย เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คันหรือบวมบริเวณแผลที่ถูกกัดหรือข่วน
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีอาการทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน โดยอาจแสดงออกอย่างรุนแรง เช่น ก้าวร้าว ชัก เพ้อ บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและเป็นอัมพาต
- ระยะที่ 3 เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ อาการจะทรุดหนักลง มีภาวะหายใจล้มเหลว เข้าสู่ภาวะโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
เนื่องจากอาการติดเชื้ออาจไม่ปรากฏทันที แม้ว่าทาสแมวจะรับเชื้อจากสัตว์เลี้ยงจะเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีแล้วก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรพาสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปฉีดยาป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้าเข็มที่ 1 เมื่อแมวเด็กอายุได้ 3 เดือน แล้วไปฉีดเข็มที่ 2 ภายใน 2-4 สัปดาห์ สำหรับแมวโตให้ฉีด 1 เข็ม แล้วฉีดเข็มที่ 2 ภายใน 2-4 สัปดาห์เช่นกัน จากนั้นให้พาแมวไปฉีดเข็มกระตุ้นทุกปี ปีละ 1 เข็ม
สำหรับผู้ที่ถูกกัดหรือข่วนแต่ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน ควรรีบไปฉีดวัคซีน 1 ชุด ให้ครบ 5 เข็ม โดยให้รับวัคซีนเข็มแรกภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังถูกกัด จากนั้นให้ไปฉีดในวันที่ 3, 7, 14 และ 30 หลังโดนกัดจนครบทุกโดส
-
โรคแมวข่วน
โรคแมวข่วนเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในน้ำลายของสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแมวที่มีเชื้อมักไม่แสดงอาการผิดปกติ ทำให้เจ้าของไม่ทราบว่าแมวกำลังป่วย แบคทีเรียจะถูกส่งผ่านจากแมวที่ติดเชื้อไปยังคนหลังจากที่แมวไปกัดหรือข่วนจนเป็นแผลลึกกว่าชั้นกำพร้า หรือเมื่อแมวไปเลียบริเวณแผลเปิดของผู้เป็นเจ้าของ โดยส่วนใหญ่ลูกแมวอายุน้อยกว่า 1 ปีมักจะข่วนหรือกัดคนมากกว่าแมวที่โตกว่า ซึ่งอาจทำให้ทาสแมวเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น ทั้งนี้ โรคแมวข่วนหายได้เองสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับยาปฏิชีวนะ
โรคแมวข่วนมักทำให้มีอาการต่อไปนี้
- บริเวณแผลที่ถูกกัดหรือข่วนบวมหรือแดงภายใน 2-3 วัน โดยอาการอาจแย่ลงเรื่อย ๆ
- มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดข้อ
- มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
- ต่อมน้ำเหลืองบวมหรือเจ็บ โดยเฉพาะใต้รักแร้ (หากแมวไปข่วนที่แขนหรือที่มือ) และขาหนีบ (หากแมวไปข่วนเท้าหรือขา)
-
โรคเชื้อราแมว
เชื้อราแมวที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของแมวที่ติดเชื้อมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยคือ ไมโครสปอรัม เคนิส (Microsporum canis) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเชื้อราที่เรียกว่าเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) หากไปคลุกคลีกับแมวที่ติดเชื้อจะทำให้เกิดผื่นวงแหวนบนผิวหนัง และอาจลามไปทั้งตัวได้หากไปแกะเกาผื่น โดยทั่วไป ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อยมักรักษาได้ด้วยการทายาปฏิชีวนะ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่หากผื่นกระจายไปทั่วร่างกาย คุณหมอมักรักษาให้โดยการกินยาร่วมกับทายาและใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป เมื่อหายแล้วผื่นอาจไม่จางไปในทันทีและทิ้งรอยดำเอาไว้ประมาณ 2-3 เดือน
อาการของโรคเชื้อราแมว มีดังนี้
- มีผื่นแดงขึ้นเป็นวงแหวนที่มีขอบเขตชัดเจน
- ผื่นอาจเป็นสะเก็ด ลอก แห้ง เป็นขุย บวมหรือคัน
- ผื่นมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อาจเกิดขึ้นบริเวณที่ติดเชื้อหรือกระจายเป็นวงกว้างทั่วร่างกาย
-
โรคบาดทะยัก
โรคบาดทะยักที่ติดต่อจากแมวเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม เตตตาไน (Clostridium tetani) ที่ติดอยู่ตามซอกเล็บและอยู่ในน้ำลายแมว และติดต่อจากแมวสู่คนผ่านบาดแผลหากโดนแมวกัดหรือข่วน โรคนี้ค่อนข้างเป็นอันตรายและทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงอย่างมาก เมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษที่ส่งผลร้ายต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและมีอาการปวด สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือไม่ได้ฉีดกระตุ้นมานานกว่า 5 ปี ควรไปฉีดทันทีหลังถูกแมวข่วนหรือกัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง
อาการของโรคบาดทะยัก เช่น
- ตึงบริเวณคอและกราม
- กลืนน้ำลายลำบาก
- มีไข้
- เหงื่อออก
- ขากรรไกรค้าง
- กล้ามเนื้อหดจนทำให้รู้สึกปวด
- หัวใจเต้นแรง
- ไม่อยากอาหาร
- กลืนอาหารไม่สะดวก
- มีปัญหาในการหายใจ
- น้ำลายไหล
วิธีป้องกันการแพร่เชื้อ โรคแมว
ทาสแมว สามารถป้องกันการรับเชื้อจากสัตว์เลี้ยงด้วยการปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- พาแมวไปตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับแมวที่อายุเกิน 7 ปี ควรพาไปตรวจทุก 6 เดือน
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับแมวที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมไปถึงแมวจรจัดและแมวป่าที่ไม่ทราบประวัติสุขภาพ
- หลังสัมผัสหรือคลุกคลีเล่นกับแมว ควรล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง
หากถูกแมวข่วนหรือกัด ให้ล้างบริเวณนั้นทันทีด้วยสบู่ และอย่าปล่อยให้แมวเลียบาดแผลเด็ดขาด
- เลี้ยงแมวแบบระบบปิด ให้แมวอยู่บริเวณบ้าน เพื่อป้องกันแมวได้รับบาดเจ็บหรือรับเชื้อโรคจากสุนัขหรือแมวจรจัดนอกบ้านที่อาจแพร่สู่เจ้าของได้
- พาแมวไปฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนโรคหัดแมว วัคซีนโรคเอดส์แมว ซึ่งก่อนให้แมวฉีดวัคซีนควรตรวจสุขภาพดูว่าแมวแข็งแรงมากพอที่จะรับวัคซีนป้องกันโรค โดยทั่วไปแมวสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป
- หากถูกแมวข่วนหรือกัดจนเป็นแผล ควรไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและบาดทะยัก สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนจะต้องฉีดวัคซีนประมาณ 4-5 เข็ม และสำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อนจะต้องฉีดประมาณ 2-3 เข็ม ดังนั้น ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงหรือคิดจะเลี้ยงสัตว์จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน
- หากสังเกตเห็นว่าแมวป่วยเป็นเชื้อราหรือมีอาการไม่สบาย ควรพาแมวไปรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่เจ้าของและแพร่ไปยังสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ