แม้โรคโควิด-19 (COVID-19) ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทย แต่ทุกคนก็จำเป็นจะต้องใช้ชีวิตประจำวันต่อไปอย่างไม่มีหยุด ซึ่งหลายคนอาจจะต้องมีการใช้บริการของ รถโดยสารสาธารณะ ดังนั้น ทางกรมขนส่งก็ได้ออกมาให้ชี้แนะเกี่ยวกับ การโดยสารรถสาธารณะให้ปลอดภัย ซึ่งจะมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ทาง Hello คุณหมอได้นำเรื่องนี้มาฝากกัน
การโดยสารรถสาธารณะให้ปลอดภัย ห่างไกลโรคโควิด-19
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้มีมาตรการการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระบบขนส่งสาธารณะ โดยกรมการขนส่งทางบกได้กำชับไปยังผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการขนส่งด้วย รถโดยสารสาธารณะ ทุกประเภท รวมถึงผู้ให้บริการสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง ดำเนินการตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด
คำแนะนำสำหรับประชาชนที่เดินทางด้วย รถโดยสารสาธารณะ
โดยประชาชนที่จำเป็นจะต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เช่น รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถสองแถว หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ควรทำตามสิ่งต่างๆ เหล่านี้
- สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง
- งดพูดคุยโทรศัพท์ในระหว่างการโดยสารรถสาธารณะ
- ควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำทุกครั้งที่มีการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ในที่สาธารณะ
- กรณีโดยสารรถแท็กซี่ ควรนั่งตอนหลังของรถ เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสาร ลดความเสี่ยงการติดต่อ
คำแนะนำสำหรับผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ
ในส่วนของผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท แนะนำให้
- สังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ หากป่วย มีอาการไข้ ไอ จาม ห้ามขับรถเด็ดขาด ควรกักตัวที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ
- ขณะให้บริการหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำบ่อยๆ
- สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาให้บริการ
- หากในระหว่างขับรถมีผู้โดยสารไอ จาม ให้ปิดแอร์แล้วเปิดหน้าต่างระบายอากาศ เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสสะสมอยู่ในรถ ลดโอกาสการติดเชื้อของผู้ขับรถและผู้โดยสารท่านอื่น
การดูแลความสะอาดภายใน รถโดยสารสาธารณะ
สำหรับการดูแลความสะอาดภายใน รถโดยสารสาธารณะ ทางกรมขนส่งได้ให้คำแนะนำเอาไว้ ดังนี้
- ควรจัดให้มีแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำประจำรถ
- หมั่นเปิดหน้าต่างให้อากาศภายนอกหมุนเวียน หรือเปิดหน้าต่างระหว่างให้บริการ
- ทำความสะอาดรถทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการให้บริการ โดยเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีผู้โดยสารสัมผัสบ่อย ๆ กรณีให้บริการผู้โดยสารที่ มีการไอ จาม หรือ ไม่สบาย ระหว่างเดินทาง ควรใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ในการทำความสะอาดภายในรถ
- เมื่อมีเวลาพัก ควรเปิดประตูและหน้าต่างรถหรือเปิดช่องระบายอากาศ เพื่อระบายอากาศภายในรถ
ทั้งนี้ ทางอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ การให้บริการของ รถโดยสารสาธารณะ และการให้บริการที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร จะดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือมาตรการ Social Distancing เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร เช่น เว้นเบาะที่นั่งในรถตู้โดยสารและรถโดยสารประจำทาง กำหนดพื้นที่ยืนบนรถเมล์
ส่วนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่งจะมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารทุกคนก่อนการเดินทาง รวมถึงตรวจคัดกรองพนักงานขับรถและผู้ประจำรถ หากพบผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ผู้ให้บริการมีสิทธิปฏิเสธการให้บริการได้
ในขณะเดียวกัน หากประชาชนพบ รถโดยสารสาธารณะ ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing หรือมาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐกำหนดเพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus 2019) สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด