การจะสังเกตอาการ ว่าตัวเองกำลังเข้าข่ายที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันนี้หรือไม่นั้น หลาย ๆ คนคงจะใช้เกณฑ์ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคได้แจ้งไว้ โดยที่พบบ่อย เช่น เป็นไข้ ไอแห้ง ๆ และหายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย แต่ก็ยังมีอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง รวมถึง ผื่นผิวหนัง… สัญญาณโควิด 19 อีกหนึ่งอย่าง ที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
[embed-health-tool-heart-rate]
ผื่นผิวหนัง สัญญาณโควิด 19 ที่ไม่ควรละเลย
แพทย์ผิวหนังหลายท่าน ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ผู้ป่วยหลายคนมีผู้ป่วยหลายรายที่จะมีอาการที่แสดงออกทางผิวหนัง โดยเฉพาะอาการ ผื่นผิวหนัง
รายงานจากแพทย์ผิวหนังที่ทำการสำรวจในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยืนยันแล้วจำนวน 88 ราย พบว่า กว่า 20% ของผู้ป่วยนั้น แสดงให้เห็นอาการทางผิวหนัง คืออาการผื่นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่เริ่มมีอาการโควิด-19 หรืออาจจะเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อาการที่พบได้มากที่สุด คืออาการผื่นแดงเป็นปื้น หรือผดผื่นแดงเป็นหย่อม ๆ ในขณะที่บางคนอาจจะเกิดอาการคล้ายลมพิษ แล้วกลายเป็นตุ่มใส คล้ายกับโรคอีสุกอีใส พบได้มากในบริเวณลำตัว
อีกหนึ่งรายงานที่พบในประเทศไทยคือ ทางแพทย์ได้ออกมาให้คำอธิบายว่า โรคโควิด-19 นั้นในช่วงแรกมักจะถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคไข้เลือดออกแทน เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เหล่านั้น มีจุดแดง ๆ บนผิวหนัง หรืออาการผื่นเกิดขึ้นตามตัว ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากในโรคไข้เลือดออก
ล่าสุด ทางสถาบันแพทย์ผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Dermatology : AAD) ได้ทำการบันทึกอาการทางผิวหนัง ที่พบได้ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการที่แสดงออกทางผิวหนังของโรคโควิด-19 ให้ประชาชนและแพทย์ได้เข้าไปอ่านเพื่อรับทราบข้อมูล
โดยดร. ซาราห์ ยัง (Sarah Young) แพทย์ผิวหนังแห่ง Cleveland Clinic ได้กล่าวไว้ “อาการทางผิวหนังที่แสดงออกมานั้นแตกต่างกันออกไป และอาการผื่นผิวหนังที่แสดงออกมาให้เห็นก็เป็นอาการที่สามารถพบได้ในโรคอื่น จึงยังสรุปแน่ชัดไม่ได้ว่า หากคุณเป็นผื่นประเภทนี้ จะเท่ากับว่าคุณเป็นโรคโควิด-19″
สุดท้ายนี้ จนกว่าจะมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ก่อนการวินิจฉัยโรคใด ๆ แพทย์ควรตระหนักไว้ว่า อาการผื่นผิวหนัง อาจจะเป็นหนึ่งในสัญญาณโควิด 19 ที่ควรเฝ้าระวัง ยิ่งโดยเฉพาะเมื่ออาการผื่นนั้นอาจจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป แพทย์ควรจะมีความละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง และอย่าให้อาการผื่นผิวหนังนี้ กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด หรือเป็นตัวชี้วัดว่าผู้ป่วยควรหรือไม่ควรได้รับการตรวจโควิด-19