หวัดลงคอ เป็นอาการหนึ่งที่อาจเกิดจากไข้หวัด และปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้าไปกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ และทำให้ร่างกายผลิตน้ำมูกออกมา หากน้ำมูกตกค้างและไหลกลับลงคอ อาจนำไปสู่อาการหวัดลงคอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเสมหะอุดตัน คัดจมูก น้ำมูกไหล
[embed-health-tool-vaccination-tool]
คำจำกัดความ
หวัดลงคอ คืออะไร
หวัดลงคอ คือ อาการที่เกิดจากการกระบวนการทำงานของร่างกาย ปกติกระเพาะอาหารและลำไส้จะผลิตสารคัดหลั่งขึ้นมาในทางเดินหายใจและลำคอ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในทางเดินหายใจและเพื่อช่วยดักจับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หากทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองเนื่องจากการติดเชื้อ ไข้หวัด สารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคือง ก็อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำมูกเยอะขึ้น ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไป น้ำมูกอาจไหลกลับเข้าสู่ลำคอ กลายเป็นอาการหวัดลงคอได้
อาการ
อาการหวัดลงคอ
ผู้ป่วยที่มีอาการหวัดลงคอ สังเกตได้ดังนี้
- อาการไอ และอาจไอบ่อยในช่วงกลางคืน
- เสียงแหบ เจ็บคอ
- รู้สึกเหมือนมีบางอย่างติดอยู่ภายในลำคอ
- เสมหะอุดตัน
- อาการไม่สบายอื่น ๆ จากไข้หวัด สารก่อภูมิแพ้ เช่น คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก น้ำมูกไหล คันปาก คอ และหู
สาเหตุ
สาเหตุหวัดลงคอ
สาเหตุที่ส่งผลให้หวัดลงคอ เกิดจากร่างกายผลิตสารคัดหลั่งเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอและในโพรงจมูก เพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรียจากไข้หวัด สารก่อภูมิแพ้ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาเพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ผ่านรูปแบบการไอ จาม สารคัดหลั่ง น้ำมูก ซึ่งสารคัดหลั่งที่ถูกกำจัดออกไม่หมดจึงอาจไหลลงเข้าสู่ลำคอเรียกว่าหวัดลงคอ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงหวัดลงคอ
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่อาการหวัดลงคอ ได้แก่
- ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
- โรคภูมิแพ้
- ไซนัสอักเสบ
- อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น อุณหภูมิเย็น หรืออากาศแห้ง
- สารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ควัน ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น
- อาหารบางชนิดที่กระตุ้นการผลิตน้ำมูก โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ด
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยหวัดลงคอ
การวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการหวัดลงคอ คุณหมออาจให้ทดสอบภูมิแพ้ ส่องกล้องทางจมูก ทดสอบการหายใจ และเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อเช็กว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสิ่งแปลกปลอมใดอยู่ในร่างกายที่เข้าไปรบกวนในระบบทางเดินหายใจ
การรักษาหวัดลงคอ
การรักษาหวัดลงคออาจเป็นไปตามสาเหตุของผลวินิจฉัย โดยส่วนใหญ่หมออาจให้รับประทานยา ดังนี้
- ยาแก้แพ้ เพื่อปิดกั้นฮีสตามีนไม่ให้ทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้
- ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบบวมในโพรงจมูก
- ยารูปแบบสเปรย์พ่นจมูก เช่น ยาหดหลอดเลือด โครโมลินโซเดียม (Cromolyn Sodium) ลิวโคไตรอีน (leukotrienes) ไอปราโทเปียม โบรไมด์ (Ipratropium Bromide)
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหวัดลงคอ
เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารก่อภูมิแพ้ นำไปสู่อาการหวัดลงคอ ควรป้องกันด้วยวิธี ต่อไปนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียตามฝ่ามือหลังการสัมผัส และหลังเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก
- เว้นระยะห่างจากผู้ป่วย
- ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หมอน
- ปิดปากและจมูกขณะไอจาม หรืออาจสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน
- หมั่นทำความสะอาด ดูดฝุ่น โดยเฉพาะในบริเวณที่นอน ผ้าม่าน พรม โซฟา
- สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงและซักที่นอนของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ในสวน