ไข้ เป็นอาการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ มักสูงกว่าหรือเท่ากับ 37.2 องศาเซลเซียส ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ส่วนใหญ่แล้วเมื่อรับประทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นอนพักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ หรือเช็ดตัวมักทำให้ไข้ลดลงภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ไข้อาจเป็นอาการของโรคต่าง ๆ เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก หากมีไข้สูง ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ผื่นขึ้นตามตัว เจ็บหน้าอก ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจหาโรคหรือความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของไข้ ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้วก็จะทำให้ไข้หายตามไปด้วย
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
ไข้ คืออะไร
ไข้ คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดจากการที่ร่างกายทำปฏิกิริยาต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย
วิธีวัดไข้และเกณฑ์การวัดไข้
หากต้องการทราบว่ามีไข้หรือไม่ สามารถวัดอุณหภูมิด้วยปรอทหรืออุปกรณ์วัดไข้ได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้
- วัดไข้ทางรักแร้ ผู้ที่มีไข้คือ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าหรือเท่ากับ 37.2 องศาเซลเซียส
- วัดไข้ทางปาก ผู้ที่มีไข้คือ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าหรือเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียส
- วัดไข้ทางหู ผู้ที่มีไข้คือ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส
- วัดไข้ทางทวารหนัก ผู้ที่มีไข้คือ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส
อาการ
อาการของไข้
เมื่อเป็นไข้ อาการที่อาจพบได้ มีดังต่อไปนี้
- เหงื่อออก
- หนาว ตัวสั่น
- ปวดหัว หรือเวียนหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว
- ไม่อยากอาหาร
- ริมฝีปากแห้งเพราะร่างกายขาดน้ำ
- อ่อนเพลีย
ทั้งนี้ ผู้ที่มีไข้และควรเฝ้าระวังได้แก่ เด็กอายุระหว่าง 6 เดือน-5 ปี เนื่องจากมักมีความเสี่ยงเกิดอาการชักจากไข้ (Febrile Seizure) โดยเด็กมักจะหมดสติ ตัวแข็ง ตาเหลือก ร้องไห้ และแขนขากระตุก ควรรีบพาไปพบคุณหมอด่วนที่สุด
สาเหตุ
สาเหตุของไข้
ปกติแล้ว อุณหภูมิของร่างกายจะถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) เมื่อติดเชื้อหรือเจ็บป่วย สมองส่วนนี้จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกาย
ทั้งนี้ ไข้ยังเป็นหนึ่งในอาการของโรคหรือความเจ็บป่วย ดังนี้
- ร่างกายติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียตามส่วนต่าง ๆ เช่น หู ปอด ลำคอ กระเพาะปัสสาวะ ไต
- มีการอักเสบภายในร่างกาย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- มีภาวะเพลียแดด
- เป็นโรคมะเร็ง
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
- เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลูปัส
นอกจากนี้ อุณหภูมิร่างกายยังสามารถสูงขึ้นแบบชั่วคราวได้ ในกรณีต่อไปนี้
- ออกไปเผชิญแสงแดดนานเกินไป
- ได้รับยาฆ่าเชื้อ หรือยาสำหรับรักษาภาวะความดันโลหิตสูงหรืออาการชัก
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
เมื่อเป็นไข้ หากดูแลตนเองในเบื้องต้น เช่น เช็ดตัว รับประทานยาลดไข้ พักผ่อนให้พอ ดื่มน้ำมาก ๆ ไข้มักลดลงภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในแต่ละช่วงวัยเมื่อเป็นไข้อาจมีอาการแตกต่างกันไป และควรพบคุณหมอเมื่อเป็นไข้ในกรณีต่อไปนี้
ทารก
- วัยแรกเกิด-3 เดือน เมื่อวัดไข้ทางช่องหูแล้วพบว่าอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส
- อายุระหว่าง 3-6 เดือน เมื่อวัดไข้ทางช่องหูแล้วพบว่าอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียส หรือเมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 38.9 องศาเซลเซียส แต่มีอาการหงุดหงิดหรือไม่สบายตัวร่วมด้วย
- อายุระหว่าง 7-24 เดือน เมื่อวัดไข้ทางช่องหูแล้วพบว่าอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียสนานกว่า 1 วัน
- เมื่อมีไข้สูง หรือประมาณ 40 องศาเซลเซียส
- เมื่อมีไข้ พร้อมกับมีอาการผิดปกติ เช่น ซึม สับสน อาเจียน ปวดหัว เจ็บคอ ชัก
- เมื่อมีไข้เกินกว่า 3 วันติดต่อกัน
ผู้ใหญ่
- เมื่อมีไข้สูง หรือประมาณ 39.4 องศาเซลเซียส
- เมื่อมีไข้ ร่วมกับมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง ผื่นขึ้นตามตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อาเจียนหลายครั้ง ปวดท้อง มีอาการชัก
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการไข้
เมื่อไปที่สถานพยาบาล คุณหมอจะตรวจผู้ป่วยที่เป็นไข้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- วัดอุณหภูมิร่างกายด้วยปรอทหรืออุปกรณ์วัดไข้
- สอบถามอาการของผู้ป่วย รวมทั้งประวัติสุขภาพ และประวัติการใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการไข้ เช่น โรคหวัด โรคโควิด-19
- ตรวจการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ด้วยการนำตัวอย่างของเหลวในจมูกหรือลำคอไปตรวจในห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม หากไข้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คุณหมออาจตรวจเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเอ็กซ์เรย์ เพื่อหาสาเหตุของไข้
การรักษาอาการไข้
หากมีไข้ต่ำ คุณหมออาจไม่จ่ายยาใด ๆ ให้ แต่อาจแนะนำวิธีดูแลตนเองในเบื้องต้น เช่น เช็ดตัว ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม หากมีไข้สูง คุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้
- จ่ายยาลดไข้ให้ เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟนโดยยาทั้ง 2 ชนิดจะออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง รับประทานทุก ๆ 4-6 ชั่วโมงหรือเมื่อมีอาการ อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาลดไข้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ในระยะยาวอาจทำให้ไตเสียหายได้ จึงควรรับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอ
- รักษาอาการที่เป็นสาเหตุของไข้ เช่น หากไข้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมอจะจ่ายยาต้านเชื้อแบคทีเรียให้ และเมื่อหายจากการติดเชื้อแล้ว อาการไข้จะหายไปด้วย
- แนะนำให้คนไข้ดูแลตัวเอง ด้วยการดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และเช็ดตัวเพื่อให้ไข้ลด
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการไข้
อาการไข้อาจป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
- รับวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคที่ทำให้เป็นไข้ เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูก หรือปาก เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกาย และทำให้เกิดการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากแก้วหรือขวดเดียวกับผู้อื่น รวมถึงการใช้ช้อนส้อมร่วมกับผู้อื่น
- ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หรือหลังจากเล่นกับสัตว์เลี้ยง
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ พักผ่อนหรือนอนให้พอวันละ 7-9 ชั่วโมง ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ