เป็นที่ทราบกันดีว่า ผงชูรส เป็นวัตถุดิบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการนำมาปรุงอาหาร และเพิ่มรสชาติให้อาหารนั้นมีความเข้มข้นขึ้น แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินควร ก็อาจส่งผลเสียต่าง ๆ แก่สุขภาพของเรา จนนำมาสู่อาการ แพ้ผงชูรส ก็เป็นได้ วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอพาทุกคนมารู้จักกับอาการเหล่านี้ตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อเป็นการรับมือ และรักษาได้เท่าทัน
อาการ แพ้ผงชูรส (MSG Allergy) คืออะไร
การที่คุณมีอาการแพ้ผงชูรส โดยที่ไม่ได้เป็นลักษณะการสืบทอดทางพันธุกรรมทางครอบครัว แต่อาจมาจากสาเหตุของพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคุณเองเมื่อร่างกายได้รับสารปรุงแต่งอาหารอย่าง ผงชูรส ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมต หรือ Monosodium Glutamate (MSG) มากจนเกินไป หรือได้รับการสะสมจนร่างกายรับไม่ไหว ทำให้ในบางครั้งเกิดผลข้างเคียงที่มีระดับปานกลาง จนไปถึงระดับความรุนแรง นับได้ว่าสร้างความเสียหายให้แก่สุขภาพของคุณได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกถึงอาการแพ้ผงชูรส มีดังนี้
อาการแรกเริ่มเมื่อแพ้ผงชูรส
- ปวดศีรษะ
- เหงื่อออก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่สบายตัว
- น้ำมูกไหล คัดจมูก
- เจ็บหน้าอกเล็กน้อย
- มึนงง
- แสบร้อนภายในช่องปาก หรือรอบปาก
- ใบหน้าบวม
อาการรุนแรงเมื่อแพ้ผงชูรส และควรนำผู้ป่วยไปรักษาโดยแพทย์ทันที
- เจ็บหน้าอกรุนแรง
- ใจสั่น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- หายใจถี่
- ลำคอบวม
- ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เช่น ท้องเสีย
จากงานวิจัยบางชิ้นยังชี้ให้เห็นอีกว่าผู้ที่แพ้ผงชูรสที่มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ อาจทำให้ไปขัดขวาง หรือลดการไหลเวียนของอากาศบริสุทธิ์ในส่วนของปอดได้ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้กระดูกของเราสึกกร่อนอีกด้วย
วิธีรักษาอาการ แพ้ผงชูรส เมื่อคุณมีอาการรุนแรงขึ้น
เมื่อคุณเช็ก และสังเกตตนเองว่าคล้ายกับมีอาการดังที่กล่าวมา โปรดรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของคุณทันที โดยแพทย์อาจใช้วิธีรักษาดังนี้
- ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) สำหรับการแก้ปัญหาปรับระดับของอาการทางด้านการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และลดอาการบวมบนใบหน้าให้ลดลง
- การใช้ อะดรีนาลีน (Adrenaline) เข้ามาช่วยเพื่อลดการตีบของเส้นเลือด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนของทางเดินหายใจ อีกทั้งยังเป็นยาสำหรับผู้ที่มีภาวะของโรคภูมิแพ้ปะปน และนำมาใช้รักษาเมื่อผู้ป่วยมีปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ในกรณีที่คุณมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ให้คุณรีบหาน้ำสะอาดดื่ม และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรอดูอาการอีกครั้งว่าทุเลาลงหรือไม่ ถ้าหากมีอาหารที่ดีขึ้นแล้วก็เป็นอันว่าปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรก็ควรที่จะได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง
การป้องกันอาการ แพ้ผงชูรสด้วยตนเอง
เนื่องด้วยแพทย์ไม่สามารถเข้ามาคอยตามประกบตัวคุณได้ทุกฝีก้าว ดังนั้นคุณจึงควรร่วมมือกับแพทย์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการแพ้ผงชูรสอีกครั้ง และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ถึงการตรวจสอบอาหารก่อนรับประทาน
เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่มี โมโนโซเดียมกลูตาเมต อาจเพิ่มความไวต่อร่างกายในการตอบสนองต่ออาการแพ้ผงชูรส โดยอาหารที่คุณควรอ่านฉลากข้างบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างยิ่ง ก่อนนำมาปรุงอาหารก่อนเสมอ คือ
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก
- ผักที่ถูกบรรจุไว้ภายในกระป๋อง
- มันฝรั่งทอดชนิดแผ่น หรือขนมถุง
- ซุปสำเร็จรูปแบบกระป๋อง
นอกเหนือจากนั้นยังมีอาหารที่คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถนำมาปรับให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะได้ เช่น
- ชีส
- เนื้อตุ๋น เนื้อแห้ง
- น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม รวมถึงเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ
- ถั่วเหลือง
- เห็ด
- น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น และน้ำผักผลไม้บางชนิด
- ขนมปัง
- แป้งทำอาหารสำเร็จรูป
[embed-health-tool-bmr]