โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune Diseases) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เข้าโจมตีเซลล์และเนื้อเยื่อที่แข็งแรงในร่างกาย เหมือนการต่อสู้กับเชื้อโรค อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม การติดเชื้อ ฮอร์โมนเพศ หรือปัจจัยแวดล้อม โดยโรคภูมิแพ้ตัวเองมีด้วยกันหลายชนิด เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคสะเก็ดเงิน โรคแอดดิสัน โรคลูปัส แต่ละโรคอาจทำลายเนื้อเยื่อร่างกายที่แตกต่างกัน เช่น ข้อต่อ ตับอ่อน เส้นประสาท การรักษาที่เหมาะสมจึงอาจช่วยควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นได้
โรคภูมิแพ้ตัวเอง คืออะไร
โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune Diseases) บางครั้งอาจหรือเรียกว่า โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคภูมิต้านตนเอง คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากกว่าปกติ และปล่อยโปรตีนออโตแอนติบอดี (Autoantibody) เข้าโจมตีเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่แข็งแรงในร่างกาย เช่น ข้อต่อ ผิวหนัง ตับอ่อน หรืออวัยวะทั้งหมด เหมือนการต่อสู้กับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อก่อโรคอื่น ๆ ทำให้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะนั้น ๆ เสียหาย และเกิดเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส โรคลำไส้อักเสบ โรคเบาหวานชนิดที่ 1
แม้โรคภูมิแพ้ตัวเองจะมีหลายชนิด และอาจมีอาการแตกต่างกันไป แต่อาจมีอาการร่วมบางอย่างที่พบได้บ่อย เช่น
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย
- ผิวหนังมีปัญหา เช่น ผื่นผิวหนัง
- ปวดข้อ หรือข้อบวม
- ปวดท้อง หรือมีปัญหาในระบบย่อยอาหารบ่อย
- เป็นไข้บ่อย
- ต่อมในร่างกายบวม
ปัจจัยเสี่ยงโรคภูมิแพ้ตัวเอง
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคภูมิแพ้ตัวเอง แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
- พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอาจเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก เช่น อาการเจ็บป่วย การติดเชื้อ ก็อาจกระตุ้นให้ภูมิต้านทานทำงานผิดปกติมากขึ้นได้
- เพศ โรคแพ้ภูมิตัวเองมักเกิดในผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงบ่อย
- ฮอร์โมนเพศ ภูมิต้านทานผิดปกติมักเกิดขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือช่วงของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่สำคัญ เช่น การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร วัยหมดประจำเดือน
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด สารเคมี การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดโรคภูมิต้านตนเอง หรือกระตุ้นให้อาการกำเริบหรือแย่ลง
- การติดเชื้อ การติดเชื้อบางชนิด อาจกระตุ้นให้ภูมิต้านทานผิดปกติ หรือมีอาการแย่ลงได้
โรคภูมิแพ้ตัวเองที่พบบ่อย
โรคภูมิแพ้ตัวเองมีด้วยกันหลายชนิด ที่พบได้บ่อย เช่น
-
โรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักเกิดขึ้นในวัยเด็ก มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอหรือไม่สามารถผลิตอินซูลินเพื่อใช้ในการย่อยอาหารและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อาจทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมากขึ้น หิวมาก น้ำหนักลด เหนื่อยล้า ตาพร่า และอารมณ์แปรปรวน การรักษาอาจต้องได้รับการฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมอาการ
-
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์เยื่อบุข้อต่อ ทำให้ข้ออักเสบ บวม และปวด การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจต้องฉีดหรือรับประทานยาหลายชนิดที่ช่วยลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป
-
โรคสะเก็ดเงิน/โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์เม็ดเลือดในผิวหนัง กระตุ้นให้ผิวหนังเจริญเติบโตเร็วผิดปกติ จนเซลล์ผิวหนังสะสมกันเป็นสะเก็ดหนา อาจทำให้มีอาการบวม ตึง ผิวแดงเป็นสะเก็ด และปวดตามข้อต่อ การรักษาอาจต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และครีมสเตียรอยด์ กรดซาลิไซลิก เพื่อทำให้ผิวที่เป็นสะเก็ดอ่อนนุ่มขึ้น ลดอาการระคายผิว
-
โรคลูปัส (Systemic lupus erythematosus : SLE)
โรคลูปัสเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลายเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย เช่น ปอด ข้อต่อ เส้นประสาท เซลล์เม็ดเลือด ไต อาจทำให้มีอาการปวดข้อ เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ผื่นขึ้น ผิวบริเวณนิ้วมือนิ้วเท้าอาจซีดหรือเขียวเมื่อสัมผัสกับอากาศหนาวหรือความเครียด มักต้องรักษาด้วยการรับประทานยาสเตียรอยด์เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
-
โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease)
โรคลำไส้อักเสบเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเยื่อบุลำไส้ อาจทำให้มีอาการปวดท้อง มีไข้ น้ำหนักลด ท้องร่วง เลือดออกทางทวารหนัก อาจเป็นโรคลำไส้ใหญ่บวม และโรคโครห์น (Crohn) การรักษาอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันแบบรับประทานและแบบฉีด
-
โรคเซลิแอค (Celiac Disease)
โรคเซลิแอคเป็นโรคที่ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในธัญพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เพราะกลูเตนจะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการลำไส้อักเสบ ท้องร่วง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ในปัจจุบันอาจยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่การงดอาหารที่มีกลูเตนอาจช่วยควบคุมอาการ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้
-
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเส้นประสาท อาจทำให้เกิดอาการปวด ร่างกายอ่อนแอ การประสานงานของร่างกายไม่ดี กล้ามเนื้อกระตุก และอาจตาบอดได้ การรักษาอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ขนาดสูง เพื่อลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและอาการเจ็บปวด
-
โรคแอดดิสัน (Addison’s disease)
โรคแอดดิสันเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีต่อมหมวกไต ทำให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนบางชนิดน้อยเกินไป เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ฮอร์โมนแอนโดรเจน จนส่งผลต่อการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน การรักษาสมดุลของโซเดียมและโพแทสเซียมในร่างกายเพื่อให้ความดันโลหิตเป็นปกติ และการพัฒนาทางเพศ อาจทำให้มีอาการอ่อนแรง เหนื่อยล้า น้ำหนักลด และน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคนี้มักรักษาด้วยการรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนทดแทนเพื่อปรับปรุงระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
-
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเส้นประสาท ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง การรักษาอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการเจ็บปวด และใช้สารยับยั้งโคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase inhibitors) เพื่อช่วยกระตุ้นการสื่อสารระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
-
โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease)
โรคเกรฟส์เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป อาจทำให้มีอาการอารมณ์แปรปรวน น้ำหนักลด หัวใจเต้นช้า ผมร่วง การรักษาอาจต้องใช้ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blockers) เพื่อฟื้นฟูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้กลับสู่สมดุล และบรรเทาความรู้สึกไม่สบาย
การรักษาโรคภูมิแพ้ตัวเอง
โรคภูมิแพ้ตัวเองโดยทั่วไปไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาอาจมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอาการและควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้เป็นปกติมากขึ้น ซึ่งการรักษาภูมิต้านทานผิดปกติอาจคล้ายคลึงกัน แต่สำหรับบางโรคอาจต้องมีวิธีการรักษาแบบอื่นเพิ่มเติมควบคู่กันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ ดังนี้
- ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ยาลดภูมิคุ้มกันขนาดสูง อาจใช้ในบางกรณี เช่น การรักษามะเร็ง การป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย โดยคุณหมอจะใช้ในปริมาณที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลดการอักเสบ หรือใช้เพื่อรักษาอาการกำเริบเฉียบพลัน
- ยาต้านการอักเสบ ลดการอักเสบและความเจ็บปวด
- ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล โคเดอีน (Codeine) เพื่อบรรเทาอาการปวด
- การรักษาความบกพร่องในด้านอื่น เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภูมิคุ้มกันทำลายตับอ่อน ทำให้ผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ คุณหมออาจฉีดอินซูลินเพื่อรักษาอาการควบคู่กับการรักษาภูมิต้านทานที่ผิดปกติ
- การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดรักษาอาการลำไส้อุดตันในผู้ป่วยโรคโครห์น
- กายภาพบำบัด เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจใช้สำหรับผู้ป่วยที่นอนติดเตียง เคลื่อนไหวลำบาก