backup og meta

การรักษาโรคมะเร็ง รูปแบบ และความเสี่ยงที่ควรรู้

การรักษาโรคมะเร็ง รูปแบบ และความเสี่ยงที่ควรรู้

โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากการเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตมากและเร็วผิดปกติ ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งและสะสมเป็นเนื้องอกหรือก้อนเนื้อ มะเร็งบางชนิดอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรก แต่โดยทั่วไปอาจสังเกตได้จากอาการเหนื่อยล้าง่าย ไม่อยากอาหาร กลืนอาหารลำบาก ไอเรื้อรัง มีไข้ เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน สีผิวเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าว ควรเข้าตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะหากพบว่าเป็นมะเร็งจะได้เข้ารับ การรักษาโรคมะเร็ง ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคได้

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็ง

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง มีดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น ปกติแล้วเซลล์มะเร็งอาจใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะพัฒนาเป็นโรคมะเร็งและแสดงอาการ จึงอาจทำให้ตรวจพบโรคมะเร็งได้มากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล
  • กรรมพันธุ์ มะเร็งบางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่บุตรหลานได้ หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความเสี่ยงนี้อาจไม่เป็นโรคมะเร็งเสมอไป
  • ภาวะสุขภาพ ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางประการ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบหรือเป็นแผลเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการผิดปกติ หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและหาวิธีดูแลรักษาที่เหมาะสม
  • สภาพแวดล้อม การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง เช่น ควันบุหรี่ สารเคมีในที่ทำงานอย่างแร่ใยหิน เบนซีน นิกเกิล อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ หากสูดดมหรือสัมผัสสารเคมีเหล่านี้เป็นเวลานาน
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การสูบบุหรี่ การตากแดด รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้

วิธี การรักษาโรคมะเร็ง

วิธีรักษามะเร็งมีด้วยกันหลายวิธี คุณหมอจะเลือกวิธีรักษามะเร็งให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น

วิธี รักษามะเร็ง ด้วยเทคนิคทางการแพทย์

1. การผ่าตัดรักษามะเร็ง

คุณหมออาจให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบ เช่น การให้ยาชาเฉพาะส่วน การดมยาสลบทั่วร่างกาย ก่อนจะกรีดแผลให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ เพื่อให้สามารถนำเซลล์มะเร็งออกให้ได้มากที่สุด บางกรณีอาจใช้วิธีกรีดแผลขนาดเล็กที่ผิวหนังใกล้บริเวณที่ต้องการผ่าตัด แล้วผ่าตัดส่องกล้องหรือผ่าตัดผ่านกล้อง โดยการสอดท่อที่ติดกล้องและไฟฉายขนาดเล็กไว้ที่ปลายท่อ ซึ่งจะส่งภาพมาที่หน้าจอมอนิเตอร์ ทำให้คุณหมอสามารถผ่าตัดได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เพื่อลดขนาดเนื้องอกที่เสี่ยงเติบโตเป็นเซลล์มะเร็ง

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดรักษามะเร็ง เช่น

  • อาการปวดแผลและบริเวณโดยรอบ
  • การติดเชื้อหลังการผ่าตัด ที่อาจสังเกตได้จากอาการบวมหรือเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด
  • ผลข้างเคียงภาวะจากการดมยาสลบ เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ

2. การจี้หรือสลายเนื้องอกด้วยความเย็น (Cryoablation)

คุณหมออาจให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบ เช่น การให้ยาชาเฉพาะส่วน การดมยาสลบทั่วร่างกาย ก่อนกรีดแผลขนาดเล็ก แล้วสอดเข็มที่เรียกว่า Cryoprobe ที่บรรจุไนโตรเจนเหลวไว้เข้าไปที่ก้อนเนื้องอกผ่านแผลที่กรีด ความเย็นจากไนโตรเจนเหลวจะทำให้ก้อนเนื้องอกเป็นน้ำแข็งและตายในที่สุด วิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษามะเร็งกระดูก มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ผลข้างเคียงของการจี้หรือสลายเนื้องอกด้วยความเย็น (Cryoablationเช่น

  • เนื้อเยื่อโดยรอบอาจเสียหาย
  • การติดเชื้อจากการผ่าตัดเปิดผิวหนัง
  • เส้นประสาทเสียหาย ส่งผลให้รู้สึกอ่อนแรง มีอาการชา
  • เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด
  • ผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ

3. การให้ความร้อนเฉพาะที่หรือไฮเปอร์เธอเมีย (Hyperthermia)

เป็นการทำให้ร่างกายหรือเนื้อเยื่อในบริเวณที่ต้องการร้อนขึ้นด้วยความร้อนประมาณ 45 องศาเซลเซียสจากคลื่นวิทยุความถี่ 8 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) วิธีนี้จะช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่ออื่น ๆ โดยรอบ โดยปกติแล้วจะใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งวิธีอื่น เช่น การฉายรังสี เคมีบำบัด ซึ่งอาจช่วยให้เนื้องอกเล็กลง จนฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยความร้อนได้ผลมากขึ้น วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งไส้ติ่ง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจยังไม่เป็นที่นิยมนัก และมีเฉพาะสถานพยาบาลบางแห่งเท่านั้น

ผลข้างเคียงของการให้ความร้อนเฉพาะที่หรือไฮเปอร์เธอเมีย เช่น

  • เนื้อเยื่ออาจเป็นแผลพุพอง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องร่วง
  • เจ็บปวดจนไม่สบายตัว
  • เลือดออกหรือมีลิ่มเลือด
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

4. การฉายรังสี

การฉายรังสีอาจช่วยทำให้เนื้องอกหดตัว ชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ในทันที และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง หรือรับการรักษาควบคู่กับการผ่าตัด เคมีบำบัด เพื่อขจัดเซลล์มะเร็งที่เหลือ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งศีรษะ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกในต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

ผลข้างเคียงของการฉายรังสี เช่น

  • คลื่นไส้
  • มีแผลในช่องปาก
  • หลอดอาหารอักเสบ

5. เคมีบำบัด หรือ คีโม (chemotherapy)

เป็นวิธีรักษามะเร็งที่ช่วยชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้ขนาดของก้อนมะเร็งเล็กลง และบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง โดยอาจได้รับผ่านทางช่องปาก หลอดเลือดดำ ช่องท้อง กล้ามเนื้อแขนขา สามารถรักษาก่อนหรือหลังการผ่าตัด การฉายรังสี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

ผลข้างเคียงของเคมีบำบัด เช่น

  • ผิวหนังมีปัญหา เช่น ผิวแดงคล้ายผิวไหม้แดด สีผิวเข้มขึ้น ผิวแห้ง คันผิวหนัง
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • กลืนอาหารลำบาก
  • มีแผลในช่องปาก 
  • ผมร่วง 
  • คลื่นไส้ 
  • ท้องร่วง
  • ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศและการมีบุตร

6. ภูมิคุ้มกันบำบัด

เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ภูมิคุ้มกันซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจจับสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค และเซลล์ที่ผิดปกติภายในร่างกาย ทั้งยังคอยต่อสู้กับการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็ง และควบคุมการเจริญเติบโตของมะเร็งด้วย ส่วนใหญ่ คุณหมอจะให้ภูมิคุ้มกันบำบัดผ่านทางหลอดเลือดดำ ช่องปาก ผิวหนัง หรือกระเพาะปัสสาวะโดยตรง

ผลข้างเคียงของภูมิคุ้มกันบำบัด เช่น

  • อาการเจ็บปวด บวม และคัน บริเวณที่ได้รับภูมิคุ้มกันบำบัด
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • เหนื่อยล้า
  • ใจสั่น
  • ท้องเสีย

7. ฮอร์โมนบำบัด

ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอกมะเร็ง ลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ ส่วนใหญ่มักใช้รักษามะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น โดยปกติแล้ว จะให้ฮอร์โมนบำบัดผ่านทางปาก การฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อ แขน ขา สะโพก หรือหน้าท้อง

ผลข้างเคียงของฮอร์โมนบำบัด เช่น

  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • เหนื่อยล้า
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • ผู้หญิงอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ช่องคลอดแห้ง
  • ผู้ชายอาจมีหน้าอกขยาย

8. การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า

เป็นการรักษามะเร็งด้วยยาหรือโปรตีนที่เรียกว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) เพื่อมุ่งเป้าในการชะลอการเจริญเติบโต การแพร่กระจาย การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และฆ่าเซลล์มะเร็ง นิยมรักษาควบคู่กับการฉายรังสี หรือเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า เช่น

  • ผิวแห้ง มีผื่นขึ้น
  • เล็บเปลี่ยนสี
  • เมื่อยล้า
  • ผมร่วง
  • ท้องเสีย
  • ปัญหาเกี่ยวกับตับและทางเดินอาหาร

9. การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดไม่ใช่วิธีรักษามะเร็งโดยตรง แต่เป็นวิธีที่ช่วยฟื้นฟูสเต็มเซลล์ซึ่งทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อในแต่ละส่วนของร่างกาย เช่น สเต็มเซลล์เลือด ที่ร่างกายสูญเสียไปหรือเสียหายจากเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ผลข้างเคียงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ 

อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ การติดเชื้อ ปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง ตับ ลำไส้ และอวัยวะอื่น ๆ

วิธีดูแลตัวเองที่อาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง

วิธีดูแลตัวเองเหล่านี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควรรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมันให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เนื้อแดง เป็นต้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น เดินเร็ว แอโรบิคในน้ำ ปั่นจักรยานอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต มะเร็งปอด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การลดหรือเลิกบุหรี่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากบุหรี่มีสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน เพราะรังสียูวีในแสงแดดอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง หากเป็นไปได้ ควรงดออกแดดในช่วงที่แดดจัด คือ ช่วงเวลา 10.00-16.00 น. หรือป้องกันตัวเองด้วยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป และทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง รวมถึงสวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาว หมวกปีกกว้าง แว่นตากันแดด และกางร่มกันแดด
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ เบียร์ ในปริมาณที่พอดี โดยผู้หญิงอาจควรดื่มวันละ 1 แก้ว ผู้ชายวันละ 2 แก้ว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งในช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดกับสารก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหิน เบนซีน โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls) อะโรมาติกเอมีน (Aromatic amines) ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเพื่อไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เนื่องจากอาจติดเชื้อไวรัสผ่านทางเลือดหรือสารคัดหลั่ง โดยเฉพาะเชื้อเอชพีวี (HPV) ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทวารหนัก มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต
  • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็ง อาจไม่มีวัคซีนที่ป้องกันมะเร็งได้โดยตรง แต่สามารถฉีดวัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคดังกล่าวที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้
  • ตรวจคัดกรองมะเร็ง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ เพราะหากตรวจพบโรคมะเร็ง หรือภาวะผิดปกติที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็ง จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/symptoms-causes/syc-20370588 . Accessed January 12, 2022

Cancer prevention: 7 tips to reduce your risk. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/cancer-prevention/art-20044816 . Accessed January 12, 2022

The 10 commandments of cancer prevention. https://www.health.harvard.edu/newsletter_article/the-10-commandments-of-cancer-prevention . Accessed January 12, 2022

Cancer Treatment. https://stanfordhealthcare.org/medical-conditions/cancer/cancer/cancer-treatment.html . Accessed January 12, 2022

Types of Cancer Treatment. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types . Accessed January 12, 2022

Surgery to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/surgery . Accessed January 12, 2022

Hyperthermia to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/hyperthermia . Accessed January 12, 2022

Cryoablation for cancer. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/cryoablation-for-cancer/about/pac-20385216 . Accessed January 12, 2022

Cryoablation. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/cryoablation . Accessed January 12, 2022

Radiation Therapy to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/radiation-therapy . Accessed January 12, 2022

Chemotherapy to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/chemotherapy . Accessed January 12, 2022

Immunotherapy to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/immunotherapy . Accessed January 12, 2022

Pros and Cons of Immunotherapy. https://www.webmd.com/cancer/immunotherapy-risks-benefits . Accessed January 12, 2022

Hormone Therapy to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/hormone-therapy . Accessed January 12, 2022

Targeted Therapy to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/targeted-therapies . Accessed January 12, 2022

Stem Cell Transplants in Cancer Treatment. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/stem-cell-transplant . Accessed January 12, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/01/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ทางเลือกใหม่รักษามะเร็ง

มะเร็ง อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา