มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นอวัยวะรูปทรงคล้ายบอลลูนที่อยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน และเป็นที่กักเก็บน้ำปัสสาวะของคุณเอาไว้
คำจำกัดความ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ มะเร็งชนิดหนึ่ง ที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นอวัยวะรูปทรงคล้ายบอลลูนที่อยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน และเป็นที่กักเก็บน้ำปัสสาวะของคุณเอาไว้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมักเริ่มเกิดที่เซลล์ภายในกระเพาะปัสสาวะ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก ๆ ซึ่งยังเป็นระยะที่รักษาได้อยู่ แต่มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะเริ่มแรกก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่รับการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะแล้วจึงต้องเข้ารับการตรวจและติดตามผลการรักษาเป็นระยะต่อเนื่องอีกหลายปีหลังการรักษา เพื่อตรวจสอบว่ากลับมาเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะซ้ำหรือไม่
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบบ่อยแค่ไหน
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะพบได้บ่อยในผู้สูงวัย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถจัดการได้ด้วยการลดความเสี่ยงในการเกิดโรค โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของ โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ โดยมีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ มีหลายอาการที่บ่งบอกถึงโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ เช่น อาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด และการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก แต่อาการเหล่านี้ก็บ่งบอกถึงโรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้น คุณจึงควรใส่ใจกับอาการจำเพาะต่าง ๆ ของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งได้แก่
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- ปวดแสบขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปวดปัสสาวะเฉียบพลัน
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ปวดบริเวณช่องท้อง
- ปวดบริเวณหลังส่วนล่าง
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
การได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถยับยั้งไม่ให้อาการแย่ลงและสามารถป้องกันการเกิดอาการฉุกเฉินได้ คุณจึงควรแจ้งแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่ร้ายแรงขึ้น หากคุณมีสัญญาณหรืออาการตามที่ระบุไว้ข้างต้น หรือมีคำถามใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แต่โรคมะเร็งปัสสาวะจะเกิดขึ้นเมื่อมีเซลล์ที่ผิดปกติเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ และรุกรานไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ
นอกจากนี้ แพทย์จะแบ่งมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- มะเร็งเยื่อบุกรวยไต เป็นมะเร็งบริเวณกระเพาะปัสสาวะที่พบมากที่สุด โดยจะเริ่มเกิดที่ Transitional Cell ในบริเวณเยื่อบุชั้นในของกระเพาะปัสสาวะ โดย Transitional Cell จะเปลี่ยนรูปร่างโดยไม่ได้เกิดความเสียหายเมื่อเนื้อเยื่อยืดตัวออก
- มะเร็งที่เซลล์สความัส (Squamous Cell Carcinoma) มะเร็งชนิดนี้จะเกิดบริเวณเซลล์รูปสี่เหลี่ยมที่บางและแบนซึ่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากมีการติดเชื้อเรื้อรังที่กระเพาะปัสสาวะหรือเกิดการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน
- มะเร็งชนิดต่อม มะเร็งชนิดนี้จะเกิดบริเวณเซลล์ต่อมต่าง ๆ ที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการระคายเคืองและการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานานซึ่งเซลล์ต่อมเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างและหลั่งเยื่อเมือกในร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น
- การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ ซิการ์ หรือไปป์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ โดยทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายไปสะสมในน้ำปัสสาวะ
- เพศชาย เพศชายมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากกว่าเพศหญิง
- การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด ไตของคุณมีหน้าที่หลักในการกรองสารเคมีที่เป็นอันตรายต่างๆ จากกระแสเลือด และนำไปเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อเซลล์ไตต้องสัมผัสกับสารเคมีมากเกินไป ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้
- การรับประทานยาเบาหวานบางชนิด ผู้ที่รับประทานยาต้านเบาหวานไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) ติดต่อกันนานเกิน 1 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง หรือการติดเชื้อซ้ำ หรือการอักเสบต่างๆ เช่น ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดสความัสได้
- ประวัติความเจ็บป่วยตัวเองหรือคนในครอบครัว หากญาติของคุณคนใดคนหนึ่งมีประวัติเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะคุณก็อาจมีความเสี่ยงของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นได้ ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะไม่ค่อยถ่ายทอดกันในครอบครัวก็ตาม
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
วิธีตรวจวินิจฉัย โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่นิยมใช้มีดังต่อไปนี้
- การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ เป็นการตรวจหาเซลล์แปลกปลอมและสารต่าง ๆ เช่น ผลึกหรือคาสท์ในปัสสาวะ เป็นต้น
- การตรวจภายใน แพทย์จะสวมถุงมือและสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดหรือทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนเนื้อที่อาจเติบโตเป็นมะเร็งได้
- การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ โดยแพทย์จะสอดท่อเล็ก ๆ ที่มีกล้องขนาดจิ๋วเข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อดูภายในกระเพาะปัสสาวะ
- การตัดชิ้นเนื้อเยื่อ แพทย์จะสอดเครื่องมือตัดเล็ก ๆ เข้าไปทางท่อปัสสาวะและตัดชื้นเนื้อเยื่อบริเวณกระเพาะปัสสาวะมาตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
- การทำซีทีสแกน เพื่อดูกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี
- การเอกซเรย์
แพทย์จะพิจารณาว่าเป็นมะเร็งระยะใดโดยเริ่มจากระยะที่ 0-4 เพื่อระบุว่ามะเร็งแพร่กระจายไปเพียงใดแล้ว มะเร็งระยะต่าง ๆ มีความหมายดังนี้
- ระยะที่ 0 มะเร็งยังไม่ลุกลามไปนอกเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะชั้นใน
- ระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามไปนอกเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะชั้นใน แต่ยังไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปสู่ชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ รอบกระเพาะปัสสาวะ
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ข้างเคียงกระเพาะปัสสาวะ
การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การรักษา โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง โดยแพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับอาการของคุณ ซึ่งมีดังนี้
- การรักษาสำหรับระยะที่ 0 และระยะที่ 1 อาจใช้วิธีการต่างๆ เช่น การผ่าตัดเพื่อตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ การใช้ยาเคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดโดยใช้ยาไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มให้ไปทำลายเซลล์มะเร็ง
- การรักษาสำหรับระยะที่ 2 และระยะที่ 3 อาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้
- ตัดกระเพาะปัสสาวะบางส่วนประกอบกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
- ตัดกระเพาะปัสสาวะทิ้งทั้งหมดโดยใช้กล้อง และตามด้วยการผ่าตัดเพื่อทำทางขับถ่ายปัสสาวะออกจากร่างกายใหม่
- การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษาหรือภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งจะช่วยลดขนาดก้อนเนื้องอกก่อนผ่าตัดได้ อาจใช้วิธีเหล่านี้ในกรณีที่ทำการผ่าตัดไม่ได้หรือใช้เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลือหลังการผ่าตัดหรือใช้เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ
- การรักษาสำหรับระยะที่ 4 อาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้
- การใช้ยาเคมีบำบัดโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้การรักษาวิธีนี้เพื่อบรรเทาอาการและยืดอายุของผู้ป่วยเท่านั้น
- การตัดเอากระเพาะปัสสาวะทิ้งและผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองรอบ ๆ ออก ตามด้วยการผ่าตัดเพื่อทำทางขับถ่ายปัสสาวะออกจากร่างกายใหม่
- การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา และภูมิคุ้มกันบำบัดหลังทำการผ่าตัดแล้ว เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือเพื่อบรรเทาอาการและยืดอายุของผู้ป่วยเท่านั้น
- การใช้ยาที่ยังอยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิก
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยรับมือกับ โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือกับ โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้