backup og meta

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วัคซีน HPV ตัวช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก เท่านั้นหรือ?

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วัคซีน HPV ตัวช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก เท่านั้นหรือ?

ไวรัส HPV เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และอาจทำให้เกิดหูดและโรคมะเร็งปากมดลูกได้ อย่างไรก็ตาม การฉีด วัคซีน HPV อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งถือเป็นโรคมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

HPV คืออะไร

ไวรัสเอชพีวี (HPV) หรือไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papillomavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัส และการเสียดสีบริเวณที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งทางอวัยวะเพศและช่องปาก รวมถึงการใช้อุปกรณ์ ไวรัสชนิดนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหลัก ๆ มีทั้งหมด 14 สายพันธุ์ โดยการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถก่อโรคได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ดังนี้

  • ในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก โดยจากสถิติปีพ.ศ. 2563 มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบในในสตรีไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 9,000 ราย และเสียชีวิตปีละ 4,700 ราย หรือในทุกๆ 2 ชั่วโมงต้องมีคนจากโลกนี้ไป และถือเป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง
  • ในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งช่องปากและลำคอ และมะเร็งทวารหนัก โดยมะเร็งช่องปากและลำคอเป็นอีกหนึ่งมะเร็งที่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี จากการมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก และเป็นโรคมะเร็งที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การใช้ชีวิตประจำวัน และต่อสภาพจิตใจอย่างมาก 

นอกจากนี้ การติดเชื้อ HPV ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำให้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาซ้ำบ่อย ๆ ด้วยการให้ยา จี้เย็นหรือจี้ไฟฟ้า และผ่าตัดบริเวณตำแหน่งอวัยวะเพศที่เกิดหูดหงอนไก่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก จนทำให้สูญเสียความมั่นใจ และกระทบความสัมพันธ์ทางเพศ หรืออาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ 

ฉีดวัคซีน HPV

ทำไม วัคซีน HPV ถึงสำคัญ

คนส่วนใหญ่สามารถติดเชื้อ HPV ได้หลายครั้งในช่วงชีวิต โดยการติดเชื้อ HPV แต่ละครั้ง อาจเป็นเชื้อสายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์ใหม่ก็ได้ ถึงแม้ว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีการกำจัดเชื้อ HPV ออกไปได้ โดยพบว่า 80-90% สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เอง แต่ยังมีบางส่วนที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดไปได้หมด เนื่องจากเชื้อ HPV จะซ่อนตัวอยู่กับเราได้นานหลายปี และจะพัฒนาเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง และมะเร็งในที่สุด ดังนั้น การติดเชื้อ HPV จึงเป็นภัยเงียบที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งที่เป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ ผู้ที่ติดเชื้อ HPV ทั้งเพศหญิงและเพศชายส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใด ๆ จนอาจแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว 

โดยวัคซีน HPV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แต่ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์และได้รับเชื้อ HPV มาแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีน HPV จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่เคยติดเชื้อที่มีอยู่ในวัคซีนได้ หรือแม้กระทั่งป้องกันการติดเชื้อ HPV ซ้ำในสายพันธุ์เดิมอีกด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ทั้งในคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วและยังไม่มีเพศสัมพันธ์ยังได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนอยู่

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และโรคมะเร็งต่างๆเหล่านี้ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV นอกจากนี้ในผู้หญิงยังแนะนำให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ HPV เป็นประจำอีกด้วย 

โดยวัคซีนมะเร็งปากมดลูกมี 3 ชนิด ได้แก่

  • ชนิด 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 16 และ 18): สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% 
  • ชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18): สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% และป้องกันโรคมะเร็งทวารหนัก และโรคหูดหงอนไก่ในเด็กผู้ชายได้ด้วย
  • วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58): สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 94% และป้องกันโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทวารหนัก และโรคหูดหงอนไก่ในเด็กผู้ชายได้ด้วย

ชนิดของวัคซีน HPV

วัคซีน HPV ฉีดตอนไหน? อายุเท่าไร?

วัคซีน HPV หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูกสามารถเริ่มฉีดให้ทุกคนทั้งเพศหญิง และเพศชาย ได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีเป็นต้นไป ดังนี้

  • อายุ 9-15 ปี ฉีด 2 เข็ม ที่ 0, 6-12 เดือน จากการฉีดเข็มแรก
  • อายุมากกว่า 15 ปี ฉีด 3 เข็ม โดยฉีดแต่ละเข็มในเดือนที่ 0, 2 และ 6 จากการฉีดเข็มแรก

โดยความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน แต่ประโยชน์อาจจะลดลงบ้างในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว สำหรับเด็กผู้ชาย และผู้ชายก็ได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้ในการป้องกันมะเร็งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ มะเร็งช่องปากและลำคอ และมะเร็งทวารหนักด้วย

ซึ่งอาการข้างเคียง สามารถพบอาการปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีดวัคซีนและอาจมีไข้ได้ 

ไขข้อข้องใจกับคำถามที่พบบ่อย 

1. หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ ครบ 3 เข็มแล้ว ต้องการฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ได้หรือไม่?  

สามารถฉีดได้ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 94% โดยการเริ่มฉีดควรเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 3 ของวัคซีนชนิดก่อนหน้าอย่างน้อย 1 ปี แล้วจึงเริ่มฉีดวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์โดยฉีดให้ครบ 3 เข็ม 

2. ต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่?

จากการติดตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV เป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ไม่พบว่ามีรอยโรคผิดปกติที่ปากมดลูกเพิ่มขึ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย  ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ (Booster)

3. หญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่?

วัคซีน HPV ถือว่ามีความปลอดภัยสูงสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่อาจไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีน HPV เนื่องจากยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของการรับวัคซีน HPV ในช่วงตั้งครรภ์อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนใด ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์

4. หากความเสี่ยงน้อยมาก เช่น มีแฟนคนเดียว save sex จำเป็นต้องฉีดวัคซีน HPV หรือไม่?

ยังมีความเสี่ยง เพราะเราไม่รู้ว่าคู่นอนของเราจะเคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาก่อนหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการใช้ถุงยาง ไม่สามารถครอบคลุมบริเวญอวัยวะเพศได้ทั้งหมด ทำให้ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ นอกจากนี้ การหันไปทำ Oral Sex เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ให้เพียงความปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้ทำให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ได้แก่ การติดเชื้อ HPV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้และหนองในเทียม เป็นต้น 

TH-GSL-00271 05/2023

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

  1. ICO/IARC HPV Informaiton Center : Human Papillomavirus and Related Disease Report THAILAND. Available at : www. hpvcentre.net. Accessed : October 27, 2019., 
  2. Castle PE et al. J Infect Dis. 2005;191:1808–1816., 
  3. RTCOG, RTCOG Clinical Practice Guideline, Primary Prevention of Cervical Cancer, 2020., 
  4. Giuliano AR et al. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. 2008;17:2036–2043., 
  5. Brotherton JML. et al. Papillomavirus Res. 2016;2:106-111., 
  6. Nyitray AG et al. J Infect Dis. 2014; 209: 1007-1015., 
  7. Serrano B, Alemany L, Tous S, Bruni L, Clifford GM, Weiss T, Bosch FX, de Sanjos e S. Potential impact of a nine-valent vaccine in human papillomavirus related cervical disease. Infect Agent Cancer 2012; 7 (1 ):38; PMID:23273245; https: / /doi .org /10 .1186 /1750-9378-7-38 8.Gardasil 9 package insert

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/02/2024

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เพศหลากหลายกับเชื้อไวรัส HPV ติดง่ายแค่ไหน?

FAQ: คําถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับวัคซีน HPV


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 12/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา