มะเร็งผิวหนัง เกิดจากการเจริญเติบโต การแบ่งเซลล์ของผิวหนังและเยื่อบุภายในผิวหนังมีความผิดปกติ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสัมผัสกับแสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) มากเกินไปและติดต่อเป็นเวลานาน โดย ชนิดมะเร็งผิวหนัง มีหลากหลาย แต่อาจรักษาให้หายได้ หากตรวจเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ
ชนิดมะเร็งผิวหนัง มีอะไรบ้าง
มะเร็งผิวหนังจำแนกออกเป็นหลายชนิด ส่วนใหญ่มักเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ และลุกลามเฉพาะที่ แต่บางชนิดอาจแพร่กระจายไปยังกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองได้ อาจสามารถแบ่งชนิดมะเร็งผิวหนัง ได้ดังต่อไปนี้
- มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma หรือ BCC) เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบได้บ่อยมากกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น โดยมะเร็งชนิดนี้มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังของร่างกายที่โดนแสงแดดเป็นประจำ เช่น ศีรษะ ลำคอ มีลักษณะเป็นตุ่มใสบนผิวหนัง หรือมีก้อนเนื้อเป็นสีคล้ำคล้ายกระ มะเร็งชนิดนี้มีความรุนแรงต่ำ และมักไม่ค่อยแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด
- มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma หรือ SCC) พบรองลงมาจากมะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ เป็นมะเร็งผิวหนังที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง มีลักษณะเป็นตุ่มแดง หรือแผลเรียบแบนที่เป็นขุยสะเก็ดร่วมด้วย มักพบในบริเวณขอบหู หน้า ริมฝีปาก คอ แขน หน้าอก และหลังโดยผู้ที่มีผิวขาวอาจมีโอกาสในการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ได้มากกว่าผู้มีสีผิวคล้ำ
- มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่มีระดับความรุนแรงมาก แต่เป็นชนิดที่พบได้น้อยหรือไม่ค่อยพบ มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังที่เรียกว่า “เมลาโนไซต์ (Melanocyte)” ทำงานผิดปกติ โดยอาการของมะเร็งชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนสีน้ำตาลเข้ม หรืออาจทำให้ไฝที่มีอยู่บนผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงและอาจมีการแพร่กระจายไปยังกระแสเลือดหรือต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งผิวหนังเซลล์ Merkel (Merkel Cell Carcinoma หรือ MCC) หรือมะเร็งต่อมไร้ท่อของผิวหนัง เป็นมะเร็งผิวหนังที่หายากและเป็นชนิดที่ก้าวร้าว โดยมะเร็งจะเติบโตและลุกลามอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นจากในเซลล์ผลิตฮอร์โมนใต้ผิวหนัง และมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายจากผิวหนังไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ มักพบในบริเวณศีรษะและลำคอ
วิธีป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนัง
การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังอาจทำได้ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดจัด หรือสัมผัสเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10:00-16:00 น. รวมถึงหลีกเลี่ยงการอาบแดด เนื่องจากแสงแดดมีรังสี UV มาก จึงอาจทำให้ผิวไหม้ เกิดกระ ฝ้า และอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ใส่เสื้อผ้าที่คลุมผิวหนัง เพื่อไม่ให้แสงแดดสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หรือควรสวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว
- ทาครีมกันแดดก่อนออกข้างนอกทุกครั้ง โดยทาอย่างน้อย 30 นาที และทาเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า คอ หลังมือหรือบริเวณที่อยู่นอกร่มผ้า และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 30 เหมาะสำหรับบุคคลที่อยู่กลางแจ้งเป็นประจำ และ ค่า PA+ หากเครื่องหมาย + ยิ่งมาก อาจช่วยป้องกันได้มากขึ้น
- หมั่นสังเกตผิวหนังตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น ไฝ ผื่น ขี้แมลงวัน โตเร็วผิดปกติ สีเปลี่ยนไปจากเดิม ควรไปหาคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย