backup og meta

สัญญาณเตือนมะเร็งช่องปาก สังเกตเร็ว รับมือทัน

สัญญาณเตือนมะเร็งช่องปาก สังเกตเร็ว รับมือทัน

มะเร็งช่องปาก เป็นอีกหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก โดยมากแล้วผู้ที่เป็นมะเร็งในช่องปากมักจะไม่รู้ตัวหรือไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติในช่องปาก ทำให้เมื่อรู้ตัวอีกทีก็พบว่าเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อในช่องปากไปมากแล้ว วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ สัญญาณเตือนมะเร็งช่องปาก มาฝากค่ะ มาดูกันว่า มีอาการผิดปกติใดในช่องปากบ้างที่เราควรระมัดระวังตั้งแต่เนิ่น ๆ

มะเร็งช่องปาก คืออะไร

มะเร็งช่องปาก หรือโรคมะเร็งในช่องปาก (Oral cancer) เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย หรือมีเซลล์มะเร็งเกิดในช่องปาก โดยอาจพบเซลล์มะเร็งอยู่ที่ลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก หรือเหงือกก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่บริเวณที่มีเซลล์มะเร็งเติบโต มากไปกว่านั้น เซลล์มะเร็งยังสามารถที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่ใกล้เคียงกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณต่อมทอนซิล บริเวณต่อมน้ำลาย หรือบริเวณคอหอย ซึ่งมะเร็งในช่องปากถือเป็นมะเร็งที่จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

สัญญาณเตือนมะเร็งช่องปาก มีอะไรบ้าง

ลักษณะเด่น ๆ ของ มะเร็งในช่องปาก ที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • มีรอยคราบหรือรอยฝ้าสีขาวเกิดขึ้นในช่องปาก และมีคราบดังกล่าวมานานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีรอยคราบหรือรอยฝ้าสีแดงเกิดขึ้นในช่องปาก และมีคราบดังกล่าวมานานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีรอยคราบสีขาวผสมกับสีแดงเกิดขึ้นในช่องปาก และมีคราบดังกล่าวมานานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีแผลหรือตุ่มที่ลิ้น โดยมักจะพบได้บริเวณใต้ลิ้น หรือที่เหงือกบริเวณข้างหลังของฟันหลัง
  • มีก้อนกลม ๆ และหนา หรือเป็นตุ่มบริเวณริมฝีปาก เหงือก ลิ้น เพดานปาก หรือบริเวณต่าง ๆ ในช่องปาก

อาการของมะเร็งช่องปากเป็นอย่างไร

อาการโดยทั่วไปของ มะเร็งช่องปาก  มีดังนี้

  • มีอาการเจ็บที่ริมฝีปากหรือที่ปากเป็นเวลานานและไม่หายสักที
  • เลือดออกในปากโดยที่ไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีอาการชาที่ปาก
  • สูญเสียความรู้สึกที่บริเวณใบหน้า ปาก หรือลำคอ
  • มีอาการเจ็บปวดและรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในลำคอ
  • กลืนอาหารลำบาก เจ็บปวดเวลากลืนหรือเคี้ยวอาหาร
  • พูดลำบาก หรือขยับขากรรไกรลำบากเวลาพูดหรือเคี้ยวอาหาร
  • มีอาการเสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง หรือมีเสียงเปลี่ยน
  • ปวดหู
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ฟันหลุด
  • หากใส่ฟันปลอมอาจรู้สึกตึงหรือแน่นที่ฟันปลอม

อาจมีอาการของ มะเร็งช่องปาก ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับอาการอื่น ๆ สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

ป้องกันมะเร็งช่องปากได้อย่างไรบ้าง

แนวทางในการป้องกัน มะเร็งช่องปาก สามารถเริ่มได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้

  • ไปตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน เพื่อทันตแพทย์จะได้สามารถตรวจพบความผิดปกติภายในช่องปากได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ 
  • ไปตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน เพื่อจะได้รับทราบความเสี่ยงของสุขภาพ หรือแนวโน้มของอาการทางสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
  • หากสูบบุหรี่เป็นประจำ ควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะจากผลการสำรวจของหลายสถาบันพบว่า หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งช่องปากคือการสูบบุหรี่ 
  • เลิกใช้ยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นยาสูบชนิดเคี้ยว ยาสูบชนิดดม หรือยาสูบชนิดสูบ ต่างก็พบว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิด มะเร็งช่องปาก
  • เลิกดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากผลการวิจัยเผยว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งช่องปากสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยถึง 6 เท่า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

5 Pictures of Mouth Cancer. https://www.healthline.com/health/what-does-mouth-cancer-look. Accessed February 4, 2021.

Mouth cancer. https://www.cancer.org.au/cancer-information/types-of-cancer/mouth-cancer. Accessed February 4, 2021.

Oral Cancer. https://www.webmd.com/oral-health/guide/oral-cancer#1. Accessed February 4, 2021.

Mouth cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mouth-cancer/symptoms-causes/syc-20350997. Accessed February 4, 2021.

Mouth cancer. https://www.nhs.uk/conditions/mouth-cancer/. Accessed February 4, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/06/2022

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เหงือกบวมรอบฟันซี่เดียว เกิดจากอะไร และมีวิธีจัดการอย่างไร

สุขภาพช่องปากที่ดี เริ่มต้นได้ด้วยการกินสิ่งเหล่านี้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา