backup og meta

เรื่องเล่าจากเพจ “แม่นุ่น” และการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

เรื่องเล่าจากเพจ “แม่นุ่น” และการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ในห้องฉุกเฉิน ของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 คุณวิทวัส โลหะมาศ นั่งจ้องมอนิเตอร์เครื่องวัดสัญญาณชีพ ตัวเลขบนหน้าจอค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ปิ๊บ….ปิ๊บ….ปิ๊บ…. และในที่สุด สัญญาณชีพของภรรยาสุดที่รักของเขา ก็ได้หยุดลงในเวลา 16.38 น. ณ เวลานั้น “แม่นุ่น” ภรรยาของเขาอยู่ในอ้อมกอดของบุคคลอันเป็นที่รัก พ่อแม่ และลูกทั้ง 2 คนของเขา “ผมรู้สึกว่า ผมทำหน้าที่ในระยะเวลาเกือบ 5 ปี สมบูรณ์แล้ว” คุณวิทวัสกล่าว “ผมก็ดีใจกับเขาที่เขาไม่ต้องมาทนกับการรักษาอะไรต่าง ๆ อีก และดีใจกับตัวเองว่า เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำอะไรแบบนี้ได้ มันอาจจะไม่จบแบบ happy ending แต่ก็จบแบบชีวิตมนุษย์คือ คนเราห้ามความตายไม่ได้”

คุณวิทวัสถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต เส้นทางของการเป็นมะเร็งเต้านมและการรักษามะเร็งของภรรยา ผ่านเฟสบุคเพจชื่อ “แม่นุ่น” ซึ่งเป็นที่โด่งดังจนถึงปัจจุบัน แม้การรักษาจะจบลงด้วยการเสียชีวิตของแม่นุ่น แต่เรื่องราวของแม่นุ่นและครอบครัว มีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อสังคมเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ในวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) ทาง Hello Khunmor ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวิทวัส เพื่อย้อนกลับไปถึงเส้นทางการรักษามะเร็ง การทำหน้าที่ของผู้ดูแลผู้ป่วย และการวางแผนรับมือในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

เกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณนุ่นเข้ารับการตรวจมะเร็งและ ณ เวลานั้น คุณรู้สึกอย่างไร

ครอบครัวผมเปิดร้านเบเกอรี่ วันหนึ่งในขณะที่คุณนุ่นกำลังทำขนมเค้ก คุณนุ่นเป็นลม คิดว่าเหนื่อย พักผ่อนไม่พอ แต่เป็นแบบนี้อยู่หลายหน จนวันหนึ่งคุณนุ่นปวดท้องมาก ผมจึงพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หมอได้ทำการตรวจแล้วพบความผิดปกติของตับ มีก้อนเนื้อใหญ่ประมาณ 7 เซนติเมตร และมีจุดดำ ๆ เต็มไปหมด ผมและนุ่นตกใจมาก ทำอะไรไม่ถูก นุ่นร้องไห้ตลอดทางที่กลับบ้าน เราอยู่ในช่วงอายุ 30 กว่า นุ่นอายุ 29 เราเป็นคนทำงานชนชั้นกลางธรรมดาที่อยู่ในวัยที่คิดแต่ทำงานเพื่อหาเงิน เราไม่เคยคิดว่าเราจะต้องมาป่วยและต้องทำการรักษา หรือเตรียมค่าใช้จ่ายกับเรื่องแบบนี้ ผมทำการค้นคว้าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต 90% ของข้อมูลบอกว่า นี่คือโรคมะเร็ง เหมือนมะเร็งกระจายมาที่ตับ ตอนนั้นไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอกนุ่น จะรู้แค่ตัวเองและเพื่อน พ่อ แม่ หลังจากนั้น ก็ไปหาคุณหมอที่ศิริราช เข้า CT Scan

ชนิดของมะเร็งที่คุณนุ่นเป็นคืออะไร

มะเร็งเต้านม HER2 Positive ระยะที่ 4 มีคนเป็นมะเร็งเต้านมชนิดนี้เพียง 15% มีความรุนแรงของโรคสูง อัตราการตายสูง แล้วต้องรักษาอย่างไร ต้องตัดเต้านมไหม ก็ได้คุยกับหมอ หมอบอกว่าเต้านมไม่ต้องตัดเพราะไม่เจ็บอะไรเลย แค่จับไปใต้เต้านมจะมีก้อน 2-3 เซนติเมตรเท่านั้นเอง แต่มันไปโตที่ตับ 7-8 เซนติเมตร มันมีการกระจายของโรคไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องตัดเต้านม แล้วพบเพิ่มว่ากระจายไปที่กระดูกสันหลังหลายจุด และกระดูกสะโพก กลายเป็นว่ามะเร็งกระจายไปทั่วทั้งตัวแล้ว

มีขั้นตอนการรักษาอย่างไรบ้าง

รักษาด้วยยา Herceptin และคีโมเทอราปี ใช้ปุ๊บดีขึ้นเลย จากเดินไม่ได้ ปวดท้องมาก ค่ามะเร็งลดลงครึ่งนึง สภาพผู้ป่วยดีขึ้นมาก เดินได้ ไม่ปวดท้อง แต่คีโมมีผลข้างเคียงมาก ทำให้ผมร่วง ผิวหนังแตกร้าวใต้ชั้นผิวหนัง ปากอักเสบ ซึ่งเป็นผลจากคีโม แต่อย่างน้อย ความตายก็ไปไกลกว่าเดิม พวกเรามีกำลังใจดีขึ้น จึงต่อเข็ม 2 ผลการรักษาโรคก็ดีขึ้นตามลำดับ โรคดีขึ้นดูด้วยค่าเลือด ตัวสแกน แต่ผลข้างเคียงรุนแรง ดูแย่มากกว่าโรค เป็นไข้สูง 38 ต้องไปโรงพยาบาล มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องอยู่ในห้องที่ควบคุมเชื้อโรคได้ สภาพตอนนั้นเหมือศพ ตัวบวม หน้าบวม ดำ ปากมีรอยแผลเต็มไปหมด เล็บมือทุกเล็บหลุดง่ายมาก ตอนนั้นหมอใช้คำว่า “ตายไปแล้วครึ่งนึง” แต่สุดท้ายก็รอดชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และกลับมาสู่การรักษาใหม่ แต่ใช้ยาสูตรนี้ไม่ได้ ก็ต้องตัดตัวคีโมออก และใช้แต่ Herceptin อาการดีขึ้นมาก เริ่มกลับมาเป็นคุณนุ่นคนเดิม

จุดเปลี่ยนสำคัญของอาการและการรักษาคืออะไร

สุดท้ายแล้ว สำหรับมะเร็งระยะที่ 4 อาการก็กลับมาอีก คือ คุณนุ่นมีอาการที่เดินเซ และปวดหัว ตอนแรกนึกว่าปวดหัวปกติ แต่กินยาก็ไม่หาย เลยสังเกตว่ามะเร็งเต้านมมีหลายชนิดก็จริง แต่มะเร็งที่ชอบไปสมองคือ HER2

หมอสแกนก็เจอก้อนเท่าลูกปิงปองอยู่ตรงท้ายทอย กำลังจะเบียดก้านสมอง และมีจุดหลาย ๆ จุด เป็นลักษณะของการแพร่กระจายมาจากที่อื่น

จากช่วงฮันนีมูนที่เหมือนชีวิตจะดีขึ้นมามาก ก็ต้องผ่าสมองอย่างด่วนที่สุด จึงผ่าตัดสมอง แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคือ จุดเล็ก ๆ ที่ผ่าตัดไม่ได้ต้องทำอย่างไร สุดท้ายจึงทำการรักษาด้วยการฉายรังสีครอบคลุมเนื้อสมองทั้งหมด (whole brain radiation) ที่อาจช่วยรักษาในจุดเล็ก ๆ เหล่านี้ได้ สุดท้ายแล้วก้อนใหญ่หายไป แต่จุดหลายจุดไม่ได้เล็กลง และข้อเสียของการฉายแสงทั้งศีรษะ คือ มันทำลายเซลล์ดีของสมองด้วย จึงทำให้เริ่มคิดช้าลง ทำอะไรช้าลง พอโรคขึ้นสมอง จะควบคุมยาก

หลังจากนั้น อาการก็ยังทรงตัว มะเร็งในส่วนที่เป็นปัญหายังไม่หายไป ผมติดต่อที่สิงคโปร์ซื้อยาตัวใหม่ขวดละ 270,000 บาท ต้องใช้ทุก ๆ 3 สัปดาห์ พานุ่นไปรักษาที่ญี่ปุ่น แต่ก็เป็นเพียงการประคองอาการ

จากวันนั้นมาอีกปีกว่า ถือเป็นวิกฤตสุดท้าย ตับก็ไม่ดี สมองไม่บวม แต่ก้อนมะเร็งยังอยู่ ก้อนที่เคยถูกควบคุมเล็ก ๆ โตมาพร้อมกันหมดเลย และมาพร้อมกับก้อน 2 ก้อน ก้อนละ 2 เซ็นติเมตร ก้อนละฝั่งของสมอง และมีจุดเล็กๆ โผล่ขึ้นมา เลยเหลือทางเดียวแล้วคือต้องผ่า เพราะยาอื่นๆ ก็ใช้ไม่ได้แล้ว จึงไปผ่าตัดก้อนมะเร็ง 2 จุด นั่นหมายความว่ากะโหลกต้องถูกเจาะ 2 ฝั่ง ผ่าเสร็จแล้ว แต่สัญญาณที่ไม่ดีมาก ๆ กว่าสมองคือ ท้องเริ่มบวม ต้องเจาะเอาน้ำออก 4-5 ลิตร ทุก ๆ 3 วัน กลับมาบ้านก็ดูเบลอ ๆ กลับมาบ้าน 2 วันก็กลับเข้าโรงบาลอีก เพราะผิดปกติ ดูเบลอ ๆ สรุปว่า ผ่าตัดออกไม่หมด จุดที่ผ่าตัดยังเหลืออยู่และโตได้อีก เมื่อตับไม่ดี เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้ผ่าตัดไม่ได้เพราะเลือดจะไม่หยุดไหล และมีเลือดออกในสมอง พอตับทำงานไม่ดี ม้ามโต เกล็ดเลือดต่ำ ภูมิก็ต่ำ เลือดออกในสมองเป็นจุด ๆ ผมก็คิดในใจแล้วว่าครั้งนี้สุดท้ายแล้ว มันไม่มีอะไรบอกตัวเองว่าเขาจะรอด เขาอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1 เดือน สัปดาห์ที่ 1 พูดได้ สัปดาห์ที่  2 เริ่มช้าลง สัปดาห์ที่ 3 เริ่มไม่ได้สติ เกิดภาวะสารพิษเข้าสมอง แล้วก็กลับมามีสติได้ 2-3 วัน แล้วก็หลับไปอีก ก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้คุยกับเขา

คุณวิทวัสมีวิธีการพูดคุย ดูแล และให้กำลังใจแม่นุ่นอย่างไรในตลอดการรักษา

ถ้าผมจะสงสารตัวเองว่าผมต้องหาเงิน ผมก็ต้องสงสารคนป่วยว่าเขาก็ต้องรับผลการรักษา เขากับผมทุกข์คนละแบบ แต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ เขาต้องรอดเพื่อลูกของเรา ยิ่งถ้าตัดพ้อ มันบั่นทอนกำลังใจของเรา เราเลยลุยให้เต็มที่ทำหน้าที่สามีให้ดีที่สุด

กับคุณนุ่นผมจะไม่คุยเรื่องโรค มีแต่บอกว่า พรุ่งนี้ไปหาหมอนะ ผลเป็นแบบนี้ต้องทำแบบนี้นะ หลายครั้งที่ผ่านมาที่เขารอด เพราะเขาเชื่อและเขามั่นใจในการตัดสินใจของเรา ระหว่างวันผมจะไม่คุยเรื่องปัญหา หรือรู้สึกเหนื่อย ผมให้เขาใช้ชีวิตอย่างสบายใจเต็มที่

สิ่งที่คุณวิทวัสได้เรียนรู้จากเส้นทางการรักษามะเร็งของแม่นุ่นคืออะไร

ผมทำตามหน้าที่เท่าที่ทำได้ คุณนุ่นก็อดทนได้มากที่สุดแล้ว มันก็จบแบบที่ดีพอที่เราทำได้ แต่ผมไม่ชอบให้คนมาบอกว่าผมทำดีที่สุดแล้ว เพราะถ้าดีที่สุดก็คือเขาต้องยังอยู่ ผมทำได้แค่นี้ และเขาก็อยู่ได้แค่นี้ มันอาจจะไม่จบแบบ happy ending แต่ก็จบแบบชีวิตมนุษย์คือ คนเราห้ามความตายไม่ได้ ผมทำตามหน้าที่เท่าที่ทำได้ คุณนุ่นก็อดทนได้มากที่สุดแล้ว มันก็จบแบบที่ดีพอที่เราทำได้

คุณวิทวัสมีวิธีรับมือกับความสูญเสียอย่างไร

การที่เรารักษามานาน ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมกับประสบการณ์นี้ ไม่ต้องอธิบายอะไรมากให้กับลูก ๆ หรือพ่อแม่ เพราะทุกคนมีส่วนร่วม คุณนุ่นเป็นคนป่วยที่มีญาติและเพื่อนมาเยี่ยมจากทุกสารทิศ เขาได้เจอทุกคน ถ้าผมเลือกตายได้ ผมก็อยากตายได้แบบเขา ที่รายล้อมไปด้วยคนรัก

คิดว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งของแม่นุ่น

ต้องใช้คำว่าไม่ทราบสาเหตุ เพราะไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ มะเร็งชนิด HER2 ไม่ใช่โรคที่ติดต่อผ่านทางพันธุกรรม ถ้าปัจจัยเสี่ยงคือการทำงานหนัก ผมมองว่าคนทำงานหนักกว่าเราก็มีมากกว่าเยอะ ผมจึงใช้คำว่าเขาโชคร้ายที่เป็นมะเร็ง

การคัดกรองมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย มีความสำคัญอย่างไร

คุณหมอบางคนบอกว่า ควรคัดกรองมะเร็งตอนอายุ 35 หรือ 40 ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการตรวจคัดกรอง แต่ผมในฐานะที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ผมมองว่า หากคุณรู้สึกถึงความผิดปกติ คุณมีสิทธิ์ที่จะไปตรวจคัดกรองได้ทันที อยากให้เอางานวิจัย หรือสถิติวางไว้ข้าง ๆ ก่อน ผมเคยถามคุณหมอว่า คนไข้ที่อายุน้อยที่สุดที่คุณหมอเคยดูแลอายุเท่าไหร่ บางคนบอก 18 บ้าง 20 บ้าง แล้วในปัจจุบัน คนเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อย ๆ มีมากกว่าแต่ก่อน ดังนั้นควรเข้ารับการคัดกรองตั้งแต่อายุน้อย ๆ หากเป็น จะได้รักษาได้ทันท่วงที ดับไฟตั้งแต่ต้นลม

ในขณะที่คนมองว่ามะเร็งเป็นเรื่องไกลตัว คุณวิทวัสมีความเห็นอย่างไร

โรคมะเร็งเป็นโรคที่ทุก ๆ ครอบครัว ได้สัมผัสกับมันไม่มากก็น้อย ไม่ครอบครัว ก็เพื่อนรอบตัว ไม่ว่าเป็นใครก็สามารถป่วยเป็นมะเร็งได้ ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับเรื่องโรคภัยมากขึ้น และคนกลัวเรื่องมะเร็งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เทรนด์ในการรักสุขภาพ เรื่องการกิน การออกกำลังกาย จะเห็นคนมาสนใจสุขภาพมากขึ้น สังคมมาถูกทาง ผมว่าเขาสนใจ และอ้างอิงกับวิชาการมากกว่าความเชื่อแบบสมัยก่อน

ผู้ป่วยและครอบครัว ควรมีวิธีคิดในการเลือกวิธีการรักษาอย่างไร

เวลามีคนนึงที่ป่วย สายมูเตลูก็มา สายธรรมชาติก็มี สายจีนก็มา ผมแนะนำยากมาก เพราะแต่ละครอบครัวมีวัฒนธรรมการดูแลที่แตกต่าง แต่อยากให้ตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุผล เหตุผลเกิดจากวิทยาศาสตร์ ตัวเลขที่วัดได้ ผมเชื่อหลักเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ เวลาฟังหมอ ให้ฟังในเนื้อหา อย่าไปใช้อารมณ์ในการฟัง ให้ตัดสินใจด้วยเหตุและผล ผู้ดูแลมีส่วนสำคัญมาก เพราะเราต้องเจอผู้ป่วยทุกวัน ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่แค่หาข้าวหายาให้กิน แต่หมายถึงให้กำลังใจ เตรียมความพร้อมในเรื่องของการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ควรเป็นผู้ดูแลที่เป็นหมอที่บ้าน ศึกษาหาความรู้ แล้วจะบริหารจัดการหลาย ๆ อย่างได้โดยที่ไม่เหนื่อยหรือตกใจมากนัก

สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คืออะไร

ตั้งแต่ก่อนตรวจแล้วเจอมะเร็ง คุณนุ่นเคยบอกผมว่าเหมือนมีก้อนที่เต้านมเล็ก ๆ แต่ไม่เจ็บ ผมบอกว่าถ้าไม่เจ็บก็คงไม่เป็นไรมั้ง มันเป็นความผิดพลาดมากที่สุด ความประมาท ความไม่รู้ ทำให้ชีวิตเราต้องลำบาก จึงไม่ควรมองข้ามเล็กๆ น้อย กับเรื่องสุขภาพร่างกายเรา ถ้าเราพบความผิดปกติ อย่าประมาทกับปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เราอาจจะเสียเวลาสักหน่อยในการไปหาหมอ แต่เรื่องโรคภัย ระวังไว้ดีที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/02/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Krittiya Wongtavavimarn

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็ง อาการ สาเหตุ และการรักษา

การรักษาโรคมะเร็ง รูปแบบ และความเสี่ยงที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Krittiya Wongtavavimarn


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา