ขาร้อน เบาหวาน เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ผู้ป่วยอาจรู้สึกขาร้อนวูบวาบ ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดแปลบเหมือนไฟช็อตที่ขา ปวดแสบปวดร้อนที่ขา ขาชา แผลที่ขาหายช้า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับรักษาที่่เหมาะสม อาการอาจรุนแรงถึงขั้นต้องตัดขาหรือเท้าได้ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรใส่ใจ หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เท้า และดูแลสุขภาพเท้าให้ดีอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบคุณหมอ
[embed-health-tool-bmi]
ขาร้อน เบาหวาน เกิดจากอะไร
อาการขาร้อน เบาหวาน เป็นสัญญาณของภาวะปลายประสาทอักเสบ หรือ เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน หรือที่นิยมเรียกกันว่า เบาหวานลงเท้า ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เส้นประสาทเสียหาย โดยมักเกิดขึ้นร่วมกับภาวะหลอดเลือดเสื่อม (เป็นผลจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นเดียวกัน) ซึ่งจะทำให้เลือดบริเวณขาและเท้าไหลเวียนไม่สะดวก ขาดออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เสี่ยงเกิดแผลหรือติดเชื้อที่เท้าได้ง่ายกว่าปกติ อีกทั้งแผลหายได้ช้า
หากอาการรุนแรงมาก คุณหมออาจจำเป็นต้องตัดนิ้วเท้า เท้า หรือขาบางส่วนออก เพื่อป้องกันมิให้เนื้อตายและเชื้อโรคแพร่กระจายสู่อวัยวะข้างเคียง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเบาหวานลงเท้า
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวานลงเท้า อาจมีดังนี้
- มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน
- เป็นโรคเบาหวานมานาน
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- สูบบุหรี่
อาการ ขาร้อน เบาหวาน
อาการขาร้อน เบาหวาน อาจพบเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้ดังนี้
- รู้สึกเสียวแปลบเหมือนมีเข็มทิ่มที่เท้า
- เท้าชา
- รู้สึกปวดตื้อ ๆ หนึบ ๆ บริเวณเท้า
- เท้าไม่มีเหงื่อออก
- เท้าบวม
- เป็นตะคริวที่น่องขณะเดินหรืออยู่เฉย ๆ
- เท้าหรือขาสูญเสียความรู้สึก ไม่รู้สึกเจ็บปวด ร้อน หรือเย็น
- เป็นแผลเรื้อรังที่เท้า แผลหายช้า
วิธีรักษาอาการ ขาร้อน เบาหวาน
การรักษาอาการขาร้อน เบาหวาน อาจทำได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย โดยสามารถทำตามแนวทางดังต่อไปนี้ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับเส้นประสาทเพิ่มเติม
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นอาหารจากธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ และลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมและน้ำตาลสูง
- เลิกสูบบุหรี่ และ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง เพราะสารพิษในบุหรี่มีผลทำให้หลอดเลือดตีบตันจนทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังเท้าลดลง
- รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำ เพื่อติดตามประสิทธิภาพการควบคุมเบาหวาน ทั้งการปรับพฤติกรรมสุขภาพและผลของยาลดระดับน้ำตาล ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอสามารถวางแผนการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมายบ่อยครั้ง ควรปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลตัวเอง และปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติม
วิธีดูแลเท้าอย่างเหมาะสมสำหรับผู้เป็นเบาหวาน
การดูแลเท้าด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานลงเท้าได้
- หลังอาบน้ำหรือล้างเท้า ควรซับขาและเท้าให้แห้ง และหมั่นตรวจและสังเกตุอาการผิดปกติของเท้าเป็นประจำทุกวัน หากพบว่าเท้ามีบาดแผล รอยแดง บวม แผลพุพอง ตาปลา หนังหนาด้าน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการแช่น้ำอุ่น หรือการประคบร้อนที่เท้า เพราะการรับความรู้สึกอาจลดลง ทำให้ไม่รู้สึกร้อน จึงเสี่ยงต่อการเกิดแผลพุพองได้
- เลือกรองเท้าที่ขนาดพอดีกับเท้า ไม่รัดแน่น หรือหลวมจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลจากการเสียดสี หรือ ไม่กระชับเท้าทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้ง่ายโดยไม่ทันได้รู้ตัว อีกทั้งแผลยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน
- หลังล้างเท้าควรทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้ทั่วบริเวณเท้าและฝ่าเท้าเ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณซอกเท้า เพราะอาจทำให้อับชื้นและติดเชื้อได้ง่าย
- หากมีตาปลาหรือหนังหนาด้าน ไม่ควรตัดออกเอง ควรให้คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้รักษา
- ไปพบคุณหมอตามนัดและเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำปีทุกปี โดยเฉพาะหากมีอาการชา หรือ แสบร้อนที่เท้า ซึ่งเป็นอาการของเส้นประสาทเสียหาย เพื่อรับการตรวจประสาทการรับรู้ความรู้สึกและการไหลเวียนเลือดบริเวณเท้า
- หมั่นขยับร่างกายอยู่เสมอ หรืออยู่ในอิริยาบถที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี เช่น ยกเท้าขึ้นขณะนั่ง กระดิกนิ้วบ่อย ๆ ครั้งละประมาณ 2-3 นาที หากรู้สึกปวดเมื่อยหรือเท้าและขาชา ควรลุกเดินหรือเปลี่ยนท่าทาง
- ออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่เท้า เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน และอาจปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเท้าอย่างเหมาะสม