นิโคติน คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่อยู่ในพืชในกลุ่มยาสูบ จึงพบได้ในบุหรี่ ซิการ์ ไปป์ เป็นสารที่มีฤทธิ์ให้เกิดการเสพติดและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ อาทิเช่น ทำให้ความดันโลหิตสูง มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง สมองเสื่อม เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยในเเง่ของระดับน้ำตาลนั้น สารนิโคตินจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์ ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน เซลล์จึงไม่สามารถดึงน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ่นโดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงของโรคเบาหวานเพิ่มมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 30-40 เปอร์เซ็นต์
[embed-health-tool-heart-rate]
นิโคติน คือ อะไร
นิโคติน (Nicotine) คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่พบได้ในบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาสูบ ซิก้า ไปป์ โดยบุหรี่ 1 มวนมีสารชนิดนี้ประมาณ 10-12 มิลลิกรัม ผู้ที่สูบบุหรี่จะได้รับสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1.1-1.8 มิลลิกรัม ต่อการสูบบุหรี่ 1 มวน
นิโคตินเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่
- เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง
- ทำลายเซลล์สมองและเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมองตีบ
- ปัญหาสุขภาพช่องปาก เหงือก เเละ ฟัน รวมทั้งยังทำให้มีกลิ่นปาก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายเสื่อมเเละเป็นโรคเส้นเลือดตีบ/อุดตัน เป็นสาเหตุให้เลือดไหลเวียนไปอวัยวะส่วนปลายลดลง จนเท้าขาดเลือดได้
- ก่อให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายได้ง่าย
- ก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เเต่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปเป็นประจำ เช่น ผู้ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือ ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่บ่อย ๆ ก็ได้รับผลเสียข้างต้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่ยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ จึงควรสูบบุหรี่เฉพาะในบริเวณที่จัดไว้ เเละ ห่างไกลจากผู้อื่น
นิโคติน เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน
นิโคตินนับเป็นสารที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานรวมทั้งทำให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีได้ยากขึ้นเนื่องจากนิโคตินทำให้เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินบกพร่องไป ซึ่งอินซูลนินี้เป็นฮอร์โมนจากตับอ่อนมีหน้าที่ควบคุมและจัดการระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในสมดุล
เมื่อเซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้แย่ลง หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เซลล์จึงไม่สามารนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูง จนนำไปสู่โรคเบาหวาน เเละหากเป็นเบาหวานอยู่เดิมก็จะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้นจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตามมาได้ เช่น โรคหัวใจเเละหลอดเลือดสมอง โรคไต เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม
นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดชั้นไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง เรียกได้ว่า ภาวะลงพุง (เเม้จะมีนำหนักไม่เกินเกณฑ์) ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของงการสูบบุหรี่และไขมันหน้าท้องของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Preventive Medicine and Public Health ปี พ.ศ. 2555 พบว่า การสูบบุหรี่สัมพันธ์กับขนาดหน้าท้องและรอบเอวของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จริง
ทั้งนี้โดยสรุป คือ การสูบบุหรี่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เเละในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวานแต่หากสูบบุหรี่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้มากถึง30-40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
เลิกบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
เมื่อเลิกสูบบุหรี่ การตอบสนองของเซลล์ต่ออินซูลินจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานอาจยังคงอยู่ในช่วง 3 ปีแรกหลังเลิกสูบบุหรี่มีการศึกษาเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่ ในเเง่ของปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine พ.ศ. 2553 ทีมผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วมการศึกษา ซึ่งมีทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้ว ติดตามไปเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี พบว่า ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีแรกหลังเลิกสูบบุหรี่ หลังจากนั้นความเสี่ยงจะค่อย ๆ ลดลงจนแทบเป็นศูนย์หลังเลิกสูบบุหรี่ไปแล้ว 12 ปี
การเลิกบุหรี่นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ยังมีผลดีต่อร่างกายอาทิเช่น
- หลังหยุดสูบบุหรี่ 20 นาที ความดันโลหิตลดลง
- หลังหยุดสูบบุหรี่เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดลดลง ซึ่งก๊าซนี้เป็นก๊าซพิษที่จะขัดขวางการขนส่งออกซิเจนในกระแสเลือด ทำให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เกิดอาการปวดหัว สับสันหรือมึนงง
- หลังเลิกสูบบุหรี่เป็นเวลา 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ประสิทธิภาพการทำงานของปอดและการไหลเวียนโลลิตจะดีขึ้น
- หลังเลิกสูบบุหรี่เป็นเวลา 1 ปี สามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ราว 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ยังสูบบุหรี่อยู่