Hyperglycemia หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของโรคเบาหวาน ทำให้ผู้ป่วยมีการสะสมของน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาทิ การบาดเจ็บของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะ โรคเส้นเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไต และเบาหวานขึ้นตา เบาหวานขึ้นตา ทั้งนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รักษาได้ด้วยการฉีดอินซูลิน รับประทานยาปฏิชีวนะ ควบคู่กับการดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ ให้พลังงานสูง และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
Hyperglycemia คืออะไร
Hyperglycemia หมายถึง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคเบาหวาน เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย
- ผู้ที่มีสุขภาพปกติ จะมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวาน จะมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
อาการ
อาการของHyperglycemia
หากผู้ป่วยเบาหวานเข้าสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้มีอาการผิดปกติต่าง ๆ อันประกอบด้วย
- ปัสสาวะบ่อย
- กระหายน้ำมาก
- อ่อนเพลีย
- ปากแห้ง
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
- หายใจลำบาก
- สายตาพร่ามัว
- คลื่นไส้ อาเจียน
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานปล่อยให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยไม่ไปพบคุณหมอหรือดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- ภาวะเลือดเป็นกรด เมื่อตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ร่างกายจึงไม่สามารถลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ได้เพียงพอ ร่างกายได้รับพลังงานจากน้ำตาลน้อยลงจึงต้องสร้างพลังงานทดแทนจากไขมัน ทำให้เกิดสารซึ่งเรียกว่าคีโตน (Ketone) ในกระแสเลือด เมื่อมีคีโตนสะสมอยู่ในเลือดปริมาณมาก เลือดจะเป็นกรด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือเสียชีวิตได้
- การบาดเจ็บของหลอดเลือดแดง หากระดับน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลจะไปทำลายผนังของหลอดเลือดฝอยจนเสียหาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหน็บชา ตะคริว หรือปวดบวมตามร่างกายบริเวณที่หลอดเลือดถูกทำลาย
- ไตเรื้อรัง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถทำให้หลอดเลือดของไตเสียหาย ส่งผลให้ไตซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือเกิดเป็นโรคไตจากเบาหวาน (diabetic nephropathy)
- เบาหวานขึ้นตา หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้หลอดเลือดจอประสาทตาถูกทำลายได้เช่นเดียวกัน และนำไปสู่อาการสายตาพร่ามัวหรือตาบอดได้
สาเหตุ
สาเหตุของ Hyperglycemia
สาเหตุหลักของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือความผิดปกติของตับอ่อนทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินหรือผลิตได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย โดยอินซูลินมีหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลในเลือดไปยังเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ เพื่อเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย รวมถึงลำเลียงน้ำตาลส่วนเกินไปสะสมไว้ที่ตับในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) หรือพลังงานสำรองในรูปคาร์โบไฮเดรต เมื่อจำนวนอินซูลินไม่เพียงพอในการลำเลียงน้ำตาลไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจึงเกิดการสะสมอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณมาก
นอกจากนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ยังอาจเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน หรือภาวะที่เซลล์ในร่างกายผู้ป่วยเบาหวานไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ดังนั้น แม้ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้เพียงพอ แต่น้ำตาลในเลือดไม่ถูกนำไปใช้เป็นพลังงาน ส่งผลให้เหลือน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือด และเป็นสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่
- การรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว พาสต้า
- ฉีดอินซูลินไม่สม่ำเสมอ โดยอาจจะลืมหรือไม่ได้ฉีดตามคำแนะนำของคุณหมอ
- ไม่รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของคุณหมอ
- การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน ความอ้วน
- การติดเชื้อ อาจทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ
- ความเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัด
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์
- การนอนดึก หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
ผู้ป่วยภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ควรรีบไปพบคุณหมอเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- มีอาการท้องร่วงหรืออาเจียน
- ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย Hyperglycemia
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง สามารถวินิจฉัยหรือตรวจได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ตรวจน้ำตาลหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar Test ) หรือการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล ซึ่งจำเป็นต้องอดอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- การตรวจน้ำตาลในเลือดแบบฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C หรือ HbA1c) เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากปริมาณน้ำตาลบนโปรตีนฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง
- ตรวจความทนต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test) คือ การตรวจความสามารถในการใช้น้ำตาลของร่างกาย โดยต้องเตรียมตัวก่อนการตรวจ ซึ่งจะมีการเจาะน้ำตาลในเลือด สองครั้ง หลังจากการให้รับประทานน้ำหวาน ซึ่งการตรวจนี้ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า
- ตรวจเลือดแบบสุ่ม (Random Blood Sugar Test) คือ การเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในช่วงเวลาใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องงดอาหารก่อนตรวจ
การรักษา Hyperglycemia
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจรักษาหรือควบคุมอาการได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ฉีดอินซูลินทดแทน ซึ่งมีทั้งการใช้หลอดฉีดยาธรรมดาหรือการใช้ปากกาฉีดอินซูลินเข้าร่างกายในปริมาณที่คุณหมอแนะนำ เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป รวมทั้งการใช้อินซูลินปั๊ม (Insulin Pump) โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะบรรจุอินซูลินทดแทนไว้ แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้อินซูลินไหลเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเบาหวาน ผ่านสายยางที่เชื่อมต่อกับหน้าท้องของผู้ป่วย
- รับประทานยา เช่น เมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยคุณหมออาจให้คนไข้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน Hyperglycemia
วิธีดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ทำได้ดังนี้
- นอนหลับให้เพียงพอ หรือเกินกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน โดยการนอนดึกหรือนอนน้อย ส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดอาการหิวมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาล ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ง่าย
- รับประทานยารักษาเบาหวาน และฉีดอินซูลินตามที่คุณหมอแนะนำ โดยไม่ควรปรับสัดส่วนของยาหรืออินซูลินที่ควรได้รับต่อวันตามใจตัวเอง หากเกิดผลข้างเคียงหรือความผิดปกติควรปรึกษาคุณหมอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อควบคุมน้ำหนัก โดยโรคอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักเกินนับเป็นปัจจัยหนึ่งของภาวะดื้ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม และเลือกบริโภคคาร์โบไฮเดรตอย่างจำกัด หรือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน ทั้งนี้ ผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่/วัน ขณะที่ผู้หญิงควรได้รับพลังงานน้อยกว่าผู้ชาย คือ วันละ 2000 กิโลแคลอรี่/วัน
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อวัดประสิทธิภาพของการรักษาว่าได้ผลหรือไม่ ตามเกณฑ์ของสมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน ระบุว่าระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารควรอยู่ระหว่าง 70-130 มิลลิลิตร/เดซิลิตร ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารไม่ควรเกิน 180 มิลลิลิตร/เดซิลิตร
[embed-health-tool-bmr]