ปลายประสาทอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของโรคเบาหวาน ซึ่งอาจทำให้มีอาการอ่อนแรง และการรับความรู้สึกผิดเพี้ยน โดยทั่วไป คุณหมออาจใช้ ยารักษาปลายประสาทอักเสบ เบาหวาน ได้แก่ ยากันชักบางชนิดและยาต้านเศร้าบางกลุ่มให้เพื่อบรรเทาอาเจ็บปวดจากเส้นประสาท ร่วมกับแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาล เพื่อป้องกันไม่ให้ปลายประสาทอักเสบมากกว่าเดิม
[embed-health-tool-bmi]
ปลายประสาทอักเสบ คืออะไร
ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) หรือบางครั้งเรียกว่าปลายประสาทเสื่อม เกิดจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ส่งข้อมูลระหว่างสมองและส่วนนั้น ๆ เกิดความเสียหาย
โดยทั่วไป เมื่อเป็นปลายประสาทอักเสบ มักมีอาการดังนี้
- รู้สึกชาตามมือหรือเท้า หรือไม่รับรู้ถึงอุณหภูมิร้อนหรือเย็น
- รู้สึกเจ็บ เสียว หรือแสบ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- การรับความรู้สึกผิดปกติ เช่น รู้สึกเจ็บปวดเมื่อร่างกายสัมผัสผ้าปูที่นอนเบา ๆ
- มีแผลติดเชื้อที่เท้า เนื่องจากไม่รู้สึกเจ็บเวลาเริ่มเป็นแผลจึงไม่ทันได้สังเกต จึงปล่อยไว้ไม่ได้รักษาให้ดี ทำให้แผลอักเสบ ติดเชื้อ หรือเป็นหนองได้ในที่สุด
ปลายประสาทอักเสบ เบาหวาน เกี่ยวข้องกันอย่างไร
หากผู้ป่วยเบาหวานไม่ดูแลตนเองให้ดีตามคำแนะนำของคุณหมอ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเรื้อรัง จนส่งผลให้หลอดเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะต่าง ๆ เสียหาย นำไปสู่อาการปลายประสาทอักเสบได้
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของผู้ป่วยเบาหวานในการเกิดอาการปลายประสาทอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของผู้ป่วย ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดของโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารขยะ (Junk food)
ยารักษาปลายประสาทอักเสบ เบาหวาน มียาอะไรบ้าง
โดยทั่วไป คุณหมออาจจ่ายยาดังต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากปลายประสาทอักเสบ
ยากันชัก
ยากันชักบางกลุ่ม เช่น พรีกาบาลิน (Pregabalin) กาบาเพนติน (Gabapentin) ออกฤทธิ์รักษาอาการปวดเนื่องจากความผิดปกติของเส้นประสาทได้ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียง คือ ทำให้ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ
ยาต้านเศร้า
ยาต้านเศร้า ได้แก่ ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressants) เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) นอร์ทริปไทลีน(Nortriptyline) เดซิพรามีน (Desipramine) หรือยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาท (SNRIs) เช่น ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) เป็นยาอีกกลุ่มสามารถที่ใช้ลดอาการปวดเนื่องจากความผิดปกติของเส้นประสาท
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของยากลุ่มไตรไซคลิก คือ อาจทำให้มีอาการปากแห้ง ท้องผูก ง่วงนอน ขาดสมาธิ และเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า
ส่วนผลข้างเคียงของยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาท คือ อาจทำให้คลื่นไส้ ง่วงนอน เวียนศีรษะ ไม่อยากอาหาร และท้องผูก
นอกจากการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการแล้ว สิ่งสำคัญคือ คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน เพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้เส้นประสาทเสียหายเพิ่มหรือหนักกว่าเดิม โดยวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปมีหลายวิธี เช่น
- ยาลดระดับน้ำตาล ในปัจจุบันมียาเม็ดหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดผ่านกลไกที่ต่างกันออกไป รวมถึงการฉีดยาอินซูลินสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เสมือนกับอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนจึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น การวิ่งเหยาะ ๆ การเดินเร็ว อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือครั้งละอย่างน้อย 30 นาที เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ จะช่วยให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลส่วนเกินได้ดีขึ้น
- การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ร่วมกับจำกัดปริมาณอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง และหลีกเลี่ยงการบริโภคของหวาน รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล