backup og meta

ป้องกัน เบาหวาน ลดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน ยังไงได้บ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    ป้องกัน เบาหวาน ลดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน ยังไงได้บ้าง

    การ ป้องกัน เบาหวาน และควบคุมโรคเบาหวานไม่ให้แย่ลง อาจทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพของตนให้ดี ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานรวมถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคเบาหวานในอนาคต

    สาเหตุของโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานอาจแบ่งตามสาเหตุการเกิดคร่าว ๆ ได้ ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิมาทำลายเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งต้องใช้ในกระบวนการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เปลี่ยนเป็นพลังงาน เมื่อมีอินซูลินไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากเซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน จึงทำให้เซลล์ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างที่ควรเป็น ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอชพีแอล (Human Placental Lactogen : HPL) ซึ่งสร้างจากรก และฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเหล่านี้จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก แต่มีฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลิน จึงอาจทำให้ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลินเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

    หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีในระยะยาวอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานดังต่อไปนี้

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ส่งผลให้หลอดเลือดต่าง ๆ รวมไปถึงหลอดหัวใจเสียหาย และมีความดันโลหิตสูง จนอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย
    • โรคปลายประสาทอักเสบ ผนังหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทถูกทำลายและเสื่อมลงเนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยมักจะเกิดความเสียหายกับเส้นประสาทส่วนปลายก่อน เช่น บริเวณเท้า ขา แขน มือ ทำให้เกิดโรคปลายประสาทเสื่อม สามารถสังเกตได้จากอาการมือเท้าชา หรือบางครั้งอาจทำให้รู้สึกปวดหรือเสียวซ่าได้
    • ไตวาย ที่ไตจะมีกลุ่มของหลอดเลือดเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่กรองและขับของเสียออกจากร่างกาย หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดที่ไตนี้เสื่อมลง ประสิทธิภาพการทำงานของไตจึงลดลง และนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด
    • จอประสาทตาเสื่อม หากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง หลอดเลือดในจอประสาทตาอาจถูกทำลาย ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม ตาพร่ามัว และเสี่ยงตาบอดได้
    • ปัญหาสุขภาพผิว ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงผิวหนังไม่ดี จึงทำให้เกิดปัญหาผิวหนังต่าง ๆ เช่น ผิวแห้งกร้าน อาการคัน และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ผิวหนัง

    สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานแล้วตั้งครรภ์และผู้ที่คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หากควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์ตัวโตจนคลอดลำบากและอาจจำเป็นต้องผ่าคลอด อีกทั้งยังอาจทำให้ทารกเสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์ได้

    ป้องกัน เบาหวาน ทำอย่างไรได้บ้าง

    การดูแลสุขภาพเพื่อ ป้องกัน เบาหวาน อาจทำได้ดังนี้

    ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

    ระหว่างออกกำลังกาย ร่างกายจะเผาผลาญน้ำตาลและไขมันไปเป็นพลังงานได้มากขึ้น และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินและช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มความแข็งแรงของอวัยวะส่วนต่าง ๆ และช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน โดยการออกกำลังกายเพื่อป้องกันเบาหวานอาจแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

    1. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกในระดับความเข้มข้นระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน วิ่งเหยาะ ๆ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือประมาณวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
    2. การออกกำลังกายที่มีแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก เวทเทรนนี่ง อย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
    3. การออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ทำงานบ้าน ลุกขึ้นยืน เดินขึ้นลงบันได เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวและขยับมากขึ้น เป็นการเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในชีวิตประจำวัน

    รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

    เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืช และอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำ คะน้า แตงกวา ผักกาดแก้ว ถั่วฝักยาว ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อัลมอนด์ อะโวคาโด ถั่วเหลือง ปลาแซลมอน ปลาทู เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงมากจนเกินไป รวมถึงใยอาหารที่อาจมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล

    หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ

    หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เนย มันฝรั่ง ข้าวโพด ขนมหวาน ของทอด อาหารแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนอาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้

    นอกจากการดูแลสุขภาพข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรป้องกันไม่ให้โรคเบาหวานแย่ลงด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น ฉีดอินซูลินหรือรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดหรือยารักษาเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ ไปพบคุณหมอตามนัด และหมั่นตรวจระดับค่าน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วด้วยตนเองเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ตามเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา