เมื่อเป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายบกพร่องไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยกระหายน้ำมาผิดปกติ ปากแห้ง และผิวแห้ง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้แผลหายช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวาน คืออะไร
เบาหวาน เป็นภาวะเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติหรือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เนื่องจากตับอ่อนของผู้ป่วยผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลดลง หรือเซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินผิดปกติ ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายบกพร่อง
ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อนมีหน้าที่หลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยกระตุ้นในเซลล์ต่างๆในร่างกาย นำน้ำตาลไปเผาผลาญเป็นพลังงาน และนำน้ำตาลส่วนหนึ่ง ไปไว้ที่ตับในรูปของ ไกลโคเจน เพื่อพลังงานสำรอง
ทั้งนี้ เบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ชนิด เบื้องต้น ได้แก่
- เบาหวานชนิดที่ 1เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติสร้างภูมิซึ่งไปทำลาย ทำให้เบตา เซลล์ (Beta Cells) ของตับอ่อน ตับอ่อนจึงไม่สามารถผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่ามีประสิทธิภาพ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- เบาหวานชนิดที่ 2เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้กว่า 95% ของผู้ที่เป็นเบาหวานทั้งหมด เกิดจากเซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่อง เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา
- เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ มีสาเหตุจากการที่รกหลั่งฮอร์โมน ชื่อว่า ฮิวแมน พลาเซนต้า แลกโตรเจน (Human Placental Lactogen) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านฤทธิ์ของอินซูลิน จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์บางรายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนมากนั้นเป็นภาวะชั่วคราว ซึ่งจะหายได้เองหลังคลอด
อาการของโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง
อาการที่พบเมื่อเป็นโรคเบาหวานชนิดต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้
- หิวมากกว่าปกติและอ่อนเพลีย เมื่อตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ รวมถึงเมื่อเกิดภาวะดื้ออินซูลิน อาจส่งผลให้ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานได้รับพลังงานจากน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ จนทำให้ผู้ป่วยอ่อนแรงและรู้สึกหิวบ่อย รวมถึงมีน้ำหนักตัวลดลง
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ภาวะเลือดเป็นกรด เป็นภาวะฉุกเฉินของเบาหวานที่รุนเเรงจากน้ำตาลในเลือดสูงที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ จนทำให้ร่างกายต้องเปลี่ยนไปเผาผลาญไขมันเพื่อเป็นพลังงานเเทน ซึ่งกระบวนการเผาผลาญไขมันนี้ จะได้สารชนิดหนึ่ง คือ คีโตน ร่วมด้วย ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้น เมื่อมีคีโตนสะสมในเลือดเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ ซึ่งทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบ ซึ่งภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) นี้นับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนเเรงที่อาจเป็นอันตรายถึงเเก่ชีวิตได้
- ปัสสาวะบ่อยและคอแห้ง กระหายน้ำมากผิดปกติ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี จึงมักมีอาการปัสสาวะบ่อย ร่างกายจึงกระตุ้นให้มีความกระหายน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดเเทนน้ำที่สูยเสียไป อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถดื่มน้ำทดเเทนได้เพียงพอ อาการอาจรุนเเรงมากขึ้น จนเกิดภาวะฉุกเฉินของเบาหวาน ได้เเก ภาวะเลือดข้น/โคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperosmolar Hyperglycemic Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- ผิวแห้งและคัน มีสาเหตุจากร่างกายเสียน้ำเนื่องจากปัสสาวะบ่อย ผิวจึงขาดน้ำ จนทำให้ผิวแห้ง และอาจมีอาการคันตามมา
- ปลายมือปลายเท้าชา เป็นอาการหนึ่งของโรคเส้นประสาทจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดฝอยหล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหายจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่เป็นอย่างเรื้อรัง ทำให้เส้นประสาททำงานผิดปกติไป ทั้งนี้ อาการชาเนื่องจากโรคเส้นประสาทจากเบาหวานจะเริ่มเป็นบริเวณปลายเท้าและขาก่อนจะค่อย ๆ ลุกลามมายังบริเวณปลายมือและแขน
- แผลหายช้า เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวแมคโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรค และกระตุ้นการซ่อมแซมบาดแผลต่าง ๆ ของร่างกายจะลดลง ทำให้แผลหายช้า นอกจากนั้น ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ดี หลอดเลือดส่วนปลายมักตีบหรืออุดตัน ทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังส่วนที่มีบาดแผลไม่ดีเท่าที่ควร จนเป็นสาเหตุให้แผลของผู้ป่วยเบาหวานหายช้ากว่าปกติได้
- สายตาพร่ามัว เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เลนส์ของลูกตาบวม จอประสาทตาเสื่อม จึงทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงและมองเห็นภาพไม่คมชัด