อาการชาปลายนิ้ว เบาหวาน เป็นอาการที่อาจพบได้เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานส่งผลให้หลอดเลือด เเละเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมลง การส่งสัญญาณระบบประสาทจึงผิดปกติไปทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดอาการชาปลายนิ้วมือและเท้าได้ โดยหากอาการชาเป็นมากขึ้นจนไม่สามารถรับความรู้สึก อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และเกิดแผลติดเชื้อตามมาได้ง่าย
อาการชาปลายนิ้ว เบาหวาน เกิดจากอะไร
อาการชาปลายนิ้วจากเบาหวาน มีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน จนไปทำลายผนังหลอดเลือดฝอยที่มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทเสื่อม ไม่สามารถทำหน้าที่ส่งสัญญาณได้เป็นปกติ ส่งผลให้เกิดผู้ป่วยเบาหวานมีอาการชาที่บริเวณปลายนิ้วมือเเละนิ้วเท้าได้ โดยยังอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้ดังนี้
- รู้สึกเสียวซ่า ปวดเเสบร้อน ที่ปลายนิ้วมือเเละเท้า
- กล้ามเนื้อบริเวณมืออ่อนแรงลง
- อาการชาอาจลุกลามไปทั่วทั้งมือและเท้า ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามือหนาคล้ายใส่ถุงมือและถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา
- อาจมีแผลโดยที่ไม่รู้ตัว เนื่องจากมีอาการชา จึงทำให้ไม่รู้สึกเวลามีบาดแผลเล็กน้อย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้แผลติดเชื้อ และลุกลามจนเกิดเนื้อตายได้
อาการชาปลายนิ้ว เบาหวาน ควรรักษาอย่างไร
อาการชาปลายนิ้วจากเบาหวานสามารถรักษาได้ด้วย การรักษาที่สาเหตุ ดังนี้
การรักษาเพื่อชะลอการลุกลาม และควบคุมอาการ
เป็นวิธีการรักษาหลักเพื่อควบคุมโรคเบาหวาน เพราะหากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ก็จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอย่างเส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการชาปลายนิ้วมือเเละเท้า โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี และอาจช่วยให้อาการชาปลายนิ้วดีขึ้นได้ โดยควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหาร ควรอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
อย่างไรก็ตามในผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต อาจระดับน้ำตาลเป้าหมายที่ต่างกันออกไปในเเต่ละบุคคลเพื่อรักษาให้ระดับน้ำตาลในเลือดตามเป้าหมายที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เน้นรับประทานผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนจากพืชและสัตว์ที่ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันและน้ำตาลสูง เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมหวาน ของทอง น้ำอัดลม น้ำหวาน
- ออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายที่มีความเหนือยปานกลางเป็นประจำ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ ประมาณ 30 นาที/วัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทราบค่าระดับน้ำตาลในปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถวางแผนการรับประทานอาหารหรือออกกำลังกาย เพื่อช่วยควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน มีดังนี้
- ยาลดอาการปวด เช่น พรีกาบาลิน (Pregabalin) กาบาเพนติน (Gabapentin) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาท
ยานอนหลับบางชนิด เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) เดซิพรามีน (Desipramine) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยกดประสาททำให้ลดอาการปวดเส้นประสาทได้
การกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ อาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณปลายนิ้วมือและเท้า จึงอาจช่วยบรรเทาอาการชาที่เกิดจากจากเบาหวานได้ โดยมีวิธีการคร่าว ๆ ดังนี้
- เหยียดแขนตรง จากนั้นกระดกข้อมือทั้ง 2 ข้างสลับกันอย่างช้า ๆ ทำ 3 รอบ รอบละ 30 ครั้ง
- เหยียดแขนตรง จากนั้นหมุนข้อมือทั้ง 2 ข้างช้า ๆ ทำ 3 รอบ รอบละ 30 ครั้ง
- กำมือและแบมือออกช้า ๆ สลับกัน ทำ 3 รอบ รอบละ 30 ครั้ง
[embed-health-tool-bmi]