ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักพบหลังจากอายุครรภ์ขอคุณเเม่เข้าช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย เเต่หากไว้โดยไม่ทำการรักษา หรือ ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองและเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอกำหนดอย่างเคร่งครัด
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
เบาหวานตอนท้อง เกิดจากอะไร
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดเนื่องจากร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิเพิ่มขึ้น โดยในระหว่างตั้งครรภ์ รกจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คอร์ติซอล (Cortisol) และแลคโตเจน (Lactogen) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลิน จึงส่งผลให้เซลล์ในร่างกายของคุณเเม่ตอบสนองต่ออินซูลินลดลง นำน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญได้ลดลง จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตามคุณเเม่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานตอนขณะตั้งครรภ์ เมื่อตรวจพบหลังจากเข้าอายุครรภ์ในไตรมาสที่ 2 ไปเเล้ว หากตรวจพบตั้งเเต่อายุครรภ์น้อย ๆ อาจเเปลได้ว่า คุณเเม่อาจจะมีโรคเบาหวานอยู่เดิมตั้งเเต่ยังไม่ตั้งครรภ์ได้ (ไม่ทราบมาก่อน)
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เช่น
- ผู้ที่มีประวัติเป็นภาวะก่อนเบาหวาน หรือมีประวัติเคยมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- คุณแม่ที่เป็นโรคอ้วน หรือ มีภาวะน้ำหนักเกิน และภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
เบาหวานตอนท้อง อันตรายอย่างไร
เบาหวานตอนท้อง อาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารก ดังนี้
- ทารกตัวใหญ่ ส่งผลให้คลอดยาก คุณเเม่เสี่ยงต่อการเกิดเเผลฉีดขาดเเละติดเชื้อ รวมทั้งทารกอาจเสี่ยงต่อการคลอดยาก ติดไหล่ และอาจไม่สามารถคลอดเองได้ตามปกติ ต้องใช้เครื่องมือช่วย หรือ เปลี่ยนไปทำการผ่าคลอด
- ภาวะน้ำคร่ำมาก (Polyhydramnios) ภาวะคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งทำให้คุณแม่มีความดันโลหิตสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะไตวาย อาการชัก และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
- ทารกในครรภ์เจริญเติบโตล่าช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด และแท้งบุตร
- เเรกคลอดทารกอาจเสี่ยงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้เกิดอาการชักได้
- ทารกตัวเหลือง
- ทารกเมื่อเติบโตจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานในอนาคตได้มากว่าเด็กทั่วไป
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวานตอนท้อง
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวานตอนท้อง มีดังนี้
- เข้าพบคุณหมอตามนัด ทั้งคุณหมอเบาหวาน เพื่อประเมินว่าการรักษาที่ให้เหมาะสมเเละควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมากน้อยเพียงใด เเละเข้าพบคุณหมอสูตินรีเวชเพื่อประเมินสุขภาพของคุณเเม่เเละลูกน้อยในครรภ์
- หากคุณเเม่มีระดับน้ำตาลสูงทั้งที่ได้ควบคุมเรื่องอาหารเต็มที่เเล้ว คุณหมอจะให้การรักษาด้วยอินซูลินเป็นหลัก โดยเเนะนำให้คุณแม่ฉีดอินซูลินตามขนาดเเละเวลาที่คุณหมอกำหนดอย่างเคร่งครัด
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณเเม่ทราบว่าสามารถควบคุมเบาหวานได้ตามเกณฑ์หรือไม่ โดยระดับน้ำตาลในเลือดก่อนมื้ออาหารไม่ควรมากกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เเละไม่ควรเกิน 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง หรือไม่ควรเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี อาหารที่มีโปรตีนสูงและไขมันต่ำ เช่น อัลมอนด์ ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช แอปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป ของทอด