แผลเบาหวาน เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้เมื่อผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ใส่ใจดูแลตนเองให้ดี ทั้งนี้ แผลเบาหวานมักหายช้า จึงมักเกิดเป็นแผลเรื้อรังและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดอวัยวะได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากรักษาแผลเบาหวานอย่างถูกวิธี รวมทั้งควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเบาหวานได้
[embed-health-tool-bmi]
แผลเบาหวาน คืออะไร
แผลเบาหวาน (Diabetic Ulcer) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี โดยมีสาเหตุมาจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เส้นประสาทและหลอดเลือดเกิดความเสียหาย ส่งผลให้แผลหายช้า เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน และหากไม่ได้รับการรักษาทเหมาะสม อาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือถึงขั้นถูกตัดอวัยวะได้
ปัญหาสุขภาพที่ผลร่วมกับแผลเบาหวาน
ผู้ป่วยที่มีแผลเบาหวาน อาจมีปัญหาแทรกซ้อนทางสุขภาพที่พบร่วมกันได้ดังนี้
- เท้าผิดรูป ทำให้โครงสร้างเท้าผิดปกติ บิดเบี้ยว จากแผลเป็นดึงรั้ง หรือ อาจมาจากการจำเป็นต้องตัดนิ้ว/เท้าบางส่วนออกเพื่อมิให้แผลลุกลาม
- เส้นประสาทเสื่อม ส่งผลให้เกิดอาการชา และไม่รับรู้ความรู้สึก โดยมักเกิดกับเส้นประสาทส่วนปลายก่อน เช่น ปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลโดยไม่รู้สึกตัวได้ง่าย
- ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม ทำให้ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ และส่งผลให้ผิวแห้งแตกจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลได้ง่าย
- สูญเสียอวัยวะ โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้า เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแผลหายช้าและกลายเป็นแผลเรื้อรัง รวมทั้งเกิดแผลเนื้อตายได้ง่าย
- เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีพอ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต
วิธีรักษาแผลเบาหวาน
หากผู้ป่วยเบาหวานมีแผลที่ในดูแลเองเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้-หนาวสั่น ซึมลง ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาแผลเบาหวานที่เหมาะสม โดยในคุณหมอจะประเมินระดับความรุนแรงของแผล และทำการรักษา โดยการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายหรือสิ่งแปลกปลอมออก (Debridement) และหากมีหนองจะทำการระบายหนองออกด้วย หลังจากนั้น หากแผลไม่ลึกมาก คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลแผลด้วยตนเอง ดังนี้
- ทำความสะอาดแผลทุกวัน ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือทางการแพทย์และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดรอบ ๆ แผล หลีกเลี่ยงการล้างแผลในอ่างน้ำวน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- พันแผลหรือปิดด้วยผ้าปิดแผล ไม่ควรเปิดแผลทิ้งไว้ ควรปิดด้วยผ้าปิดแผลที่ระบายสามารถอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ทึบ เพราะอาจทำให้แผลอับชื้นซึ่งนอกจากจะทำให้แผลหายช้าแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน
วิธีป้องกันแผลเบาหวาน
การปรับพฤติกรรมสุขภาพในชีวิตประจำวัน และรักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด แผลเบาหวาน ได้ โดยสามารถปฏิบัติเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยูในเกณฑ์เหมาะสม โดยหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำว
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการรับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมัน แป้งและน้ำตาลสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
- รักษาสุขอนามัย ทำความสะอาดเท้าทุกวัน
- เลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจดูสภาพเท้าทุกวัน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น แผลที่เท้า รอยขีดข่วน ตาปลา รวมทั้งตัดเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ