backup og meta

อาการตกเลือดหลังคลอด การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    อาการตกเลือดหลังคลอด การรักษาและการป้องกัน

    อาการตกเลือดหลังคลอด เป็นภาวะที่มีการเสียเลือดภายหลังคลอดมากกว่า 1,000 มิลลิลิตร ส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายกับมารดาตามมา เช่น ภาวะซีด ความดันโลหิตลง ช็อค และเสียชีวิตได้ ซึ่วงภาวะการตกเลือดหลังคลอดนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับ1ของสตรีตั้งครรภ์ ดังนั้น การทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการตกเลือดหลังคลอด อาจช่วยให้คุณหมอสามารถดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ มีการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันอาการตกเลือดหลังคลอดที่อาจเกิดขึ้น หรือกรณีที่เกิดแล้วได้รัยบการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถทำให้ลดการสูญเสียได้

    ตกเลือดหลังคลอด คืออะไร

    ตกเลือดหลังคลอด คือภาวะที่มีการเสียเลือดภายหลังคลอดมากกว่า 1,000 มิลลิลิตร ส่งผลให้เกิดภาวะซีด ความดันตก และเสียชีวิตได้โดยอาการตกเลือดหลังคลอดแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ การตกเลือดหลังคลอดปฐมภูมิ คือการตกเลือดที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และการตกเลือดทุติยภูมิ คือการตกเลือดภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังคลอดและอยู่ภายใน 12 สัปดาห์หลังคลอด

    สาเหตุที่พบบ่อยของการตกเลือดหลังคลอด มีดังนี้

    • ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว (Uterine Atony) เป็นภาวะที่มดลูกไม่หดตัวทำให้ไม่สามารถยึดหลอดเลือดในรกได้ ส่งผลให้เสียเลือดมากหลังคลอด
    • รกไม่คลอดออกมาหรือรกคลอดออกมาไม่ครบสมบูรณ์ (Retained Placental Tissue) เป็นภาวะที่ชิ้นส่วนรกที่ยังค้างอยู่ในโพรงมดลูก ส่งผลให้มดลูกไม่สามารถหดตัวได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีเลือดออกมากหลังคลอด
    • การบาดเจ็บ ( Trauma) เกิดจากช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก หรือบริเวณระหว่างอวัยวะเพศและทวารหนักเสียหายหนักจนทำให้เลือดออกมาก
    • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Blood Clotting Condition) เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดในคุณแม่ตั้งครรภ์ ส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัวและเลือดออกมากหลังคลอด
    • โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของการตกเลือดแบบปฐมภูมิที่ทำให้เกิดการสูญเสียมากที่สุดคือภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว

    ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด

    การป้องกันอาการตกเลือดหลังคลอด คือ การทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการตกเลือด เพื่อสามารถแจ้งให้คุณหมอทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ และได้รับการดูแลในระหว่างตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม โดยผู้ที่อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการตกเลือดหลังคลอด มีดังนี้

    • ตั้งครรภ์หลายครั้ง หรือการตั้งครรภ์ลูกแฝด
    • ให้กำเนิดทารกที่มีขนาดตัวใหญ่
    • เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
    • มีน้ำคร่ำมากเกินไป
    • ผู้ที่ผ่าคลอด หรือส่วนของอวัยวะเพศฉีกขาดระหว่างคลอดลูก
    • ผู้ที่ได้รับยาออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่เป็นฮอร์โมนจำเป็นสำหรับกระตุ้นการคลอดลูกมาเป็นระยะเวลานานหรือผู้ที่ได้รับยาระงับการหดรัดตัวของมดลูก (Tocolytic Ddrugs) ก่อนที่จะเกิดการคลอดเพียงไม่นาน
    • ผู้ที่ได้รับยาสลบ
    • ติดเชื้อในโพรงมดลูกระหว่างระยะรอคลอด
    • ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางประการ เช่น ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด โรคโลหิตจาง โรคอ้วน

    อาการตกเลือดหลังคลอด

    อาการตกเลือดหลังคลอดที่อาจพบได้บ่อย มีดังนี้

    • เลือดออกมากและไม่สามารถควบคุมได้
    • ความดันโลหิตลดลง
    • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว เป็นลม
    • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
    • จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง
    • มีอาการบวมและปวดบริเวณช่องคลอด อุ้งเชิงกราน หรือบริเวณระหว่างอวัยวะเพศและทวารหนัก

    อาการตกเลือดหลังคลอดอาจเกิดขึ้นทันทีหลังคลอด ซึ่งโดยส่วนใหญ่คุณแม่หลังคลอดจะยังคงอยู่ดูอาการที่โรงพยาบาล ทำให้สามารถได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่หากอาการตกเลือดหลังคลอดนี้มาเกิดภายหลังจากกลับบ้านไปแล้ว คุณแม่ต้องมีการสังเกตอาการตนเอง หากมีเลือดออกทางช่องคลอดที่มากผิดปกติ ให้มาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป โดยสาเหตุการตกเลือดหลังคลอดในระยะหลังนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อเพิ่มเติมในโพรงมดลูกหรือในบางรายอาจจะมีชิ้นส่วนการตั้งครรภ์เหลือค้างในโพรงมดลูกได้ เพื่อทำ

    โดยการรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอกได้อย่างรวดเร็วนั้นจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการเสียเลือดมาก เช่น การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หัวใจหรือไตลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อก หรือกลุ่มอาการชีแฮน (Sheehan’s Syndrome) ที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมใต้สมองขาดเลือดอย่างรุนแรงจนทำให้เซลล์บางส่วนตายลง ส่งผลทำให้การกระตุ้นการสร้างน้ำนมลดลง

    การรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด

    การรักษาอาการตกเลือดหลังคลอดจำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุเพื่อหยุดเลือดทันที ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้

    • การนวดมดลูก เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัว
    • ยากระตุ้นการหดตัวของมดลูกอย่างออกซิโทซิน (Oxytocin) เมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine) หรือพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) เช่น คาร์โบโพรส (Carboprost) ไมโสพรอสตอล (Misoprostol)
    • การนำเนื้อเยื่อรกที่ค้างอยู่ในผนังโพรงมดลูกออก
    • รักษาความบาดเจ็บของช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก หรือบริเวณระหว่างอวัยวะเพศและทวารที่ฉีกขาด
    • มัดหลอดเลือดหรือห่อมดลูกด้วยผ้าก๊อซที่ผ่านการฆ่าเชื้อ
    • การอุดหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงมดลูก (Uterine Artery Embolization) เป็นการใส่สายสวนเข้าไปในเส้นเลือด จากนั้นปล่อยอนุภาคเล็ก ๆ เข้าไปเพื่ออุดกั้นเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูก
    • หรือในบางรายหากไม่ตอบสนองต่อวิธีใดๆที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะต้องมีการตัดมดลูกออก
    • นอกจากนี้อาจจะมีการให้เลือด (Blood Transfusion) หรือส่วนประกอบของเลือดเพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา