backup og meta

ปวดท้องเมนส์รุนแรง เกิดจากอะไร และควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    ปวดท้องเมนส์รุนแรง เกิดจากอะไร และควรทำอย่างไร

    ปวดท้องเมนส์รุนแรง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนเป็นประจำเดือนและระหว่างที่เป็นประจำเดือน ซึ่งอาจส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สะดวกและเคลื่อนไหวลำบาก ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์หรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเมื่อปวดท้องเมนส์

    ปวดท้องเมนส์รุนแรง มีสาเหตุมาจากอะไร

    อาการปวดท้องเมนส์รุนแรง อาจมีสาเหตุมาจากสารพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่รอบการมีประจำเดือน โดยสารนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัวเพื่อช่วยขับเยื่อบุโพรงมดลูกให้หลุดลอกออก จึงส่งผลให้รู้สึกปวดท้องเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือปวดท้องเมนส์รุนแรง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้ปวดท้องเมนส์รุนแรง ดังนี้

    • ครอบครัวมีประวัติปวดท้องเมนส์รุนแรง
    • ผู้ที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย
    • ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนมามาก
    • ผู้ที่มีภาวะต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่ออวัยวะภายในบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก และส่งผลให้มีอาการปวดท้องเมนส์รุนแรง
    • โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะสืบพันธุ์ ส่งผลให้มีอาการปวดท้องบริเวณท้องน้อยรุนแรง คล้ายกับอาการปวดท้องเมนส์
    • ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) ที่อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดประจำเดือน ทำให้ความดันภายในมดลูกเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ปวดท้องเมนส์รุนแรง

    ปวดท้องเมนส์รุนแรง ควรทำอย่างไร

    สิ่งที่ควรทำเมื่อปวดท้องเมนส์รุนแรง มีดังนี้

  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen Sodium) เพื่อลดระดับของสารพรอสตาแกลนดินส์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มดลูกบีบตัวจนเกิดการปวดท้อง และช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์รุนแรง สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน อีกทั้งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ตับ กระเพาะอาหารและโรคหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาไอบูโพรเฟน หรือปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยาแก้ปวด
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่อาจช่วยป้องกันการตกไข่และบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง เช่น อาเจียน คลื่นไส้
  • ประคบร้อน โดยการใช้ถุงน้ำร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อนและห่อด้วยผ้า วางไว้บนหน้าท้องส่วนล่าง ซึ่งอาจสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์รุนแรงได้
  • ลดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น เล่นเกม อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง เนื่องจากความเครียดอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ปวดท้องเกร็งบริเวณท้องน้อยได้
  • นวดหน้าท้อง การนวดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างเบา ๆ อาจช่วยลดอาการปวดท้องเมนส์รุนแรงได้
  • ออกกำลังกาย เช่น การเดินช้า ๆ ปั่นจักรยาน โยคะ โดยเฉพาะก่อนประจำเดือนมา อาจสามารถช่วยลดอาการปวดท้องเมนส์ในระหว่างที่เป็นประจำเดือนได้
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้อาการปวดท้องเมนส์รุนแรงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคปอดบวม
  • หากอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา โดยคุณหมออาจรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดชนิดอื่นๆเช่น การฉีดยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมน การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านทางผิวหนัง (TENs) การฝังเข็ม หรือการกดจุด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์รุนแรง

    อาการปวดท้องเมนส์รุนแรง ที่ควรเข้าพบคุณหมอ

    อาการปวดท้องเมนส์มักเริ่มมีอาการก่อนเมนส์มา 1-3 วัน โดยอาจมีอาการปวดในระดับเบาถึงปานกลาง และอาจปวดรุนแรงมากที่สุดในวันที่เมนส์มา 1-2 วันแรก ก่อนอาการจะบรรเทาลงตามลำดับ แต่สำหรับบางคนที่มีอาการปวดท้องเมนส์รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะใช้วิธีบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยการรับประทานยาแก้ปวดและประคบร้อน รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดเมื่อยตัวร่วมด้วยจนรบกวนการชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีเนื้องอกในมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา