backup og meta

วิธีลบรอยดูด ด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    วิธีลบรอยดูด ด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไรบ้าง

    รอยดูดบริเวณผิวหนัง เป็นรอยที่เกิดจากการใช้ริมฝีปากดูดหรือขบกัดผิวหนังจนใต้ผิวหนังแตกและมีเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดเป็นรอยช้ำที่มีขนาดและสีที่แตกต่างไปตามความรุนแรงของการดูด รอยดูดมักจางลงและหายไปเองได้ภายในไม่กี่วันหรือไม่เกิน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้สามารถใช้ วิธีลบรอยดูด ด้วยตัวเอง เช่น การประคบร้อน การใช้ว่านหางจระเข้ เพื่อเร่งให้รอยดูดจางลงได้เร็วขึ้น

    รอยดูดหรือรอยจ้ำบนผิวหนัง เกิดขึ้นได้อย่างไร

    รอยดูดหรือรอยจ้ำบนผิวหนังเกิดจากการประทับรอยจูบ ดูด หรือขบกัดบนผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ลำคอ ไหปลาร้า หน้าอก ทำให้หลอดเลือดฝอยแตกจนเลือดไหลออกมาอยู่ใต้ผิวหนัง เกิดเป็นรอยช้ำสีคล้ำอมม่วงหรือสีแดงเข้ม ในกรณีที่มีรอยดูดรุนแรงอาจเกิดเป็นรอยช้ำสีดำหรือเขียวคล้ำ รอยดูดมักจางไปภายในไม่กี่วันหรือภายใน 2 สัปดาห์เช่นเดียวกับกับรอยฟกช้ำทั่วไป และอาจหายได้เร็วกว่าเนื่องจากเป็นรอยช้ำที่รุนแรงน้อยกว่ารอยฟกช้ำจากสาเหตุอื่น และแม้ว่าจะไม่สามารถลบรอยดูดให้หายไปทันทีได้ แต่ก็มีวิธีที่อาจช่วยให้รอยจางลงได้รวดเร็วกว่าปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ

    รอยดูดบนผิวหนังของแต่ละคนอาจจางหายไปในเวลาที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะบุคคล หากเป็นผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินเค จะเกิดรอยแผลหรือรอยช้ำได้ง่ายและรอยอาจหายได้ช้า สำหรับผู้ที่มีอายุมาก คอลลาเจนในผิวจะน้อยลง ร่างกายจึงอาจต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อนานกว่าคนในวัยหนุ่มสาว นอกจากนี้ ระยะเวลาที่รอยดูดจะจางหายไปยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการดูดด้วย หากทำให้เกิดรอยไม่ลึกมากก็อาจหายได้ภายในไม่กี่วัน

    วิธีลบรอยดูด ด้วยตัวเอง

    วิธีลบรอยดูดด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

    ประคบเย็นที่ผิวหนัง

    หากต้องการ วิธีลบรอยดูด ภายใน5นาที ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกการประคบเย็นจะช่วยลดการขยายตัวของหลอดเลือดและช่วยลดการช้ำของผิวหนังบริเวณโดยรอบสามารถใช้น้ำแข็งหรือใช้ช้อนแช่เย็นก็ได้เพื่อประคบเย็น

    ประคบร้อนที่ผิวหนัง

    หลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว การใช้ผ้าชุบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นบิดหมาดประคบร้อนบริเวณรอยดูดประมาณ 15-20 นาที วันละ  2-3 ครั้ง อาจช่วยขยายหลอดเลือดและช่วยสลายคราบเลือดที่ไหลออกจากหลอดเลือด ส่งผลให้รอยจ้ำหรือช้ำที่ผิวหนังดูจางลง ทั้งนี้ ควรระวังไม่ให้ผ้าร้อนเกินไป เพราะอาจลวกผิวหนังได้

    ทาครีมวิตามินเพื่อสมานผิว

    การใช้ครีมวิตามิน เช่น วิตามินซี วิตามินเค อาจช่วยลบรอยดูดและช่วยให้รอยดูจางลงได้ วิตามินซีมีบทบาทสำคัญในการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และอาจช่วยให้ผิวแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี ทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังรอบ ๆ หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น ส่วนวิตามินเคช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ช่วยในการเร่งการสมานเนื้อเยื่อผิวหนัง การทาครีมวิตามินบนผิวหนังสามารถลดการจับตัวของเลือด จึงอาจช่วยเร่งการสมานผิวและลดรอยช้ำที่เกิดจากรอยดูดได้

    ทาผิวด้วยว่านหางจระเข้

    ว่านหางจระเข้ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาปัญหาผิวหลายประการ เช่น แผลสดภายนอก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เนื่องจากมีส่วนประกอบที่ชื่อว่า กลูโคแมนแนน (Glucomannan) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณคอลลาเจนในบาดแผล และสมานแผลได้ การทาว่านหางจระเข้สดหรือเจลว่านหางจระเข้บริเวณรอยดูดอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน จึงอาจช่วยลดอาการบวมของผิวหนังโดยรอบได้ และอาจช่วยให้รอยดูดหายเร็วขึ้น ทั้งนี้ หากใช้ว่านหางจระเข้สด ควรปอกเปลือกออก ล้างให้สะอาด และใช้เพียงส่วนน้ำและวุ้นใสที่อยู่ภายในใบมาทาบริเวณที่เป็นรอยดูด ระวังไม่ให้ยางสีเหลืองสัมผัสผิวหนัง เพราะอาจทำให้รู้สึกคันและระคายเคืองได้

    นำสับปะรดมาทาที่รอยช้ำ

    สับปะรดมีโบรมีเลน (Bromelain) ที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน สามารถใช้เป็นยาสมานแผลและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ วิธีลบรอยดูดด้วยสับปะรดทำได้โดยการหั่นสับปะรดเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมาทาบริเวณรอยดูด ประมาณ 4-5 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ สับปะรดเป็นผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูง หากทาแล้วผิวหนังระคายเคืองควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดแล้วหยุดใช้ทันที

    ใช้น้ำมันเปปเปอร์มินต์ทาผิว

    เปปเปอร์มินต์มีส่วนประกอบของเมนทอล (Menthol) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยในการบรรเทาอาการปวดและต้านการอักเสบ อาจช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่เป็นรอยได้ ทั้งนี้ น้ำมันเปปเปอร์มินต์มีความเข้มข้นสูง อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ จึงควรใช้น้ำมันเปปเปอร์มินต์ประมาณ  1-2 หยด ผสมกับน้ำมันธรรมชาติชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำมันอัลมอนต์ 15 หยด ก่อนนำมาทาบริเวณรอยดูดแล้วนวดเบา ๆ อาจช่วยเร่งให้รอยดูดหายเร็วขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา