backup og meta

ว่านหางจระเข้ สรรพคุณ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    ว่านหางจระเข้ สรรพคุณ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นปล้อง ใบมีสีเขียวอุ้มน้ำได้ดี ปลายใบแหลม ขอบใบมีหนาม และมีวุ้นเมือกใสอยู่ภายในใบ ว่านหางจระเข้ สรรพคุณ ทางสุขภาพมีมากมาย เช่น นำวุ้นจากใบมาบรรเทาอาการจากแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวไหม้แดด ช่วยสมานแผล และห้ามเลือด หรืออาจนำไปคั้นดื่ม หรือแปรรูปเป็นผง เพื่อช่วยรักษาสุขภาพช่องปาก ลดระดับความดันโลหิต บรรเทาอาการกรดไหลย้อน  ทั้งนี้ ควรศึกษาเกี่ยวกับข้อควรระวังก่อนนำมาบริโภค เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

    คุณค่าโภชนาการของว่านหางจระเข้

    ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2563 ระบุว่า น้ำว่านหางจระเข้ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 15 กิโลแคลอรี่  และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

    • น้ำ 96.2 กรัม
    • แคลเซียม 8 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 3.75 กรัม
    • น้ำตาล 3.75 กรัม

    นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังประกอบไปด้วยวิตามินที่มีประโยชน์ ได้แก่ วิตามินเอ ที่มีเบต้าแคโรทีน วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งเป็นฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงวิตามิน B12 กรดโฟลิก และโคลีน (Choline) รวมถึงแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ โครเมียม ทองแดง ซีลีเนียม แมกนีเซียม แมงกานีส โพแทสเซียม โซเดียม และสังกะสี ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบเอนไซม์ต่าง ๆ ในร่างกาย

    ว่านหางจระเข้ สรรพคุณ ที่ควรรู้

    ว่านหางจระเข้อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของว่านหางจระเข้ ดังนี้

    อาจช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้

    ว่านหางจระเข้มีส่วนช่วยในการลดการผลิตกรดและทำหน้าที่เป็นสารต้านการอักเสบ อาจช่วยลดอาการปวดและช่วยบรรเทาอาการหลอดอาหารอักเสบได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Traditional Chinese Medicine เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเรื่อง ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยน้ำเชื่อมว่านหางจระเข้ โดยให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 79 คน รับประทานน้ำเชื่อมว่านหางจระเข้และเปรียบเทียบกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า การรับประทานว่านหางจระเข้สามารถลดความถี่ของการเกิดอาการของโรคกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนกลางอก สำรอกอาหาร ท้องอืด เรอ กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนและกรดไหลย้อน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังพบว่าไม่มีผลข้างเคียงและปลอดภัยต่อผู้รับประทานด้วย

    อาจช่วยลดระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวานได้

    ว่านหางจระเข้ประกอบไปด้วยสารอะโลอีโมนดิน (Aloe-Emodin) และสารอะโลอิน (Aloin) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ เนื่องจากมีส่วนในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Food Science and Technology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเรื่อง ฤทธิ์ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะไขมันในเลือดต่ำของว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน โดยมีกลุ่มทดลองเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูอินจำนวน 90 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานผงว่านหางจระเข้ 100 มิลลิกรัม กลุ่มที่รับประทานผงว่านหางจระเข้ 200 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ไม่รับประทานผงว่านหางจระเข้เลย โดยทำการทดลองเป็นเวลา 3-6 เดือน พบว่า กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานทั้ง 2 กลุ่มที่รับประทานผงว่านหางจระเข้มีระดับความดันโลหิตลดลง โดยจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่อรับประทานควบคู่กับการควบคุมโภชนาการในเดือนที่ 4-6

    อาจช่วยรักษาแผลบนผิวหนังได้

    วุ้นในใบว่านหางจระเข้มีสารประกอบหลายชนิดที่ช่วยต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย เช่น แมกนีเซียมแลคเตท (Magnesium Lactate) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตฮีสตามีนที่ทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองต่อผิวหนังด้วย อีกทั้งเมื่อร่างกายผลิตฮีสตามีนได้ช้าลง จะช่วยเร่งกระบวนการสมานแผล ว่านหางจระเข้จึงสามารถใช้เพื่อคงความชุ่มชื้น ลดอาการแผลพุพอง และช่วยบรรเทาแผลบนผิวหนังได้

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Medical Sciences เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562  ศึกษาเรื่อง ผลทดลองทางคลินิกของว่านหางจระเข้ต่อการป้องกันการเกิดแผลและรักษาแผลที่ผิวหนัง พบว่า ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเชื้อแบคทีเรีย จึงนำมาใช้ป้องกันการเกิดแผลที่ผิวหนัง รักษาแผลไหม้ แผลหลังผ่าตัด หัวนมแตก เริมที่อวัยวะเพศ โรคสะเก็ดเงิน แผลเรื้อรัง รวมไปถึงแผลกดทับได้

    อาจช่วยรักษาสุขภาพช่องปาก

    ว่านหางจระเข้มีสารในกลุ่มสารแอนทราควิโนน (Anthraquinones) หลายชนิด เช่น อีโมดิน (Emodin) กรดอโลอิติก (Aloetic Acid) อะโลอิน (Aloin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านจุลชีพ โดยว่านหางจระเข้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบบ่อยที่สุดในช่องปาก ทั้งยังมีสรรพคุณในการรักษาแผลในช่องปากด้วย จากงานวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatric Dental Journal เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่อง ผลของน้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้ต่อการเกิดคราบพลัคและโรคเหงือกอักเสบในเด็ก พบว่า น้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงสุขภาพช่องปาก ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดคราบพลัคและโรคเหงือกอักเสบในเด็กได้

    ข้อควรระวังในการบริโภคว่านหางจระเข้

    ข้อควรระวังก่อนบริโภคว่านหางจระเข้ อาจมีดังนี้

    • ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องระมัดระวังในการบริโภคว่านหางจระเข้ เนื่องจากว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
    • หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้รับประทานว่านหางจระเข้หรือใช้ว่านหางจระเข้บ้วนปาก
    • ควรหยุดรับประทานว่านหางจระเข้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เนื่องจากมีผลต่อความดันโลหิต
    • ผู้มีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคว่างหางจระเข้ เนื่องจากการรับประทานว่านหางจระเข้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย หรือหากใช้วุ้นหรือเจลว่านหางจระเข้ทาผิวหนัง อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง มีผื่นแดง คัน หรือเป็นลมพิษ หากเกิดอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการแพ้ว่านหางจระเข้ดังกล่าว ควรหยุดบริโภคและรีบไปพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา