backup og meta

หนังศีรษะลอก อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

    หนังศีรษะลอก อาการ สาเหตุ การรักษา

    หนังศีรษะลอก เป็นภาวะที่หนังศีรษะระคายเคือง หนังศีรษะเป็นขุยหรือหลุดลอกออกมาเป็นแผ่น คล้ายรังแค บางครั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากหนังศีรษะแห้งกว่าปกติ หรือน้ำมันบนหนังศีรษะน้อยเกินไป จนหนังศีรษะขาดความชุ่มชื้น เนื่องจากการสระผมบ่อยเกินไป การแพ้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม สภาพอากาศหนาวเย็น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาที่ถูกวิธี อาจช่วยป้องกันหรือลดปัญหาหนังศีรษะลอกได้

    หนังศีรษะลอก คืออะไร 

    หนังศีรษะลอก คือ ภาวะที่หนังศีรษะระคายเคือง หนังศีรษะเป็นขุยหรือหลุดลอกออกมาเป็นแผ่น อาจเกิดจากหนังศีรษะแห้ง หนังศีรษะขาดความชุ่มชื้น น้ำมันบนหนังศีรษะน้อยเกินไป หรือการผลัดเซลล์ผิวหนังที่เร็วผิดปกติ บางครั้งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นรังแค แต่ความแตกต่างที่อาจสังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือ รังแคมักเป็นแผ่นหรือสะเก็ดใหญ่กว่าหนังศีรษะลอก และมีสีเหลืองกว่า เกิดจากหนังศีรษะมีน้ำมันมากผิดปกติ และน้ำมันส่วนเกินนั้นไปกระตุ้นให้สร้างเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วและมากขึ้น จนผิวหนังชั้นนอกถูกดันและหลุดลอกออกมา 

    โดยหนังศีรษะลอกอาจทำให้มีอาการคันหนังศีรษะ หนังศีรษะระคายเคือง หนังศีรษะเป็นขุย เป็นสะเก็ด หรือหลุดลอกออกมาเป็นแผ่น รวมถึงอาจมีผิวแห้งในบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า แขน ขา 

    หนังศีรษะลอก เกิดจากอะไร

    หนังศีรษะลอกอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้ 

  • การสระผมบ่อยเกินไป การสระผมทุกวันอาจไปชะล้างน้ำมันที่หนังศีรษะออกมากเกินไป ส่งผลให้หนังศีรษะขาดความชุ่มชื้นและแห้งได้ โดยปกติแล้ว ควรสระผมอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้หนังศีรษะยังคงความชุ่มชื้น แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้นานหลายวันเพราะอาจส่งผลให้ผมมันได้ อย่างไรก็ตาม ความถี่ในการสระผมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประเภทของเส้นผม สภาพหนังศีรษะ การสัมผัสฝุ่นควันหรือสิ่งสกปรก การมีเหงื่อออก  
  • สภาพอากาศ สภาพอากาศที่หนาวหรือแห้ง อาจส่งผลให้ผิวหนังในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงหนังศีรษะแห้งได้ อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องทำความชื้นอาจช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ และป้องกันหนังศีรษะแห้งเกินไปจนหนังศีรษะลอกได้
  • การแพ้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเส้นผม หนังศีรษะที่เปลี่ยนเป็นสีแดง คัน และเป็นสะเก็ด อาจเกิดจากผิวหนังอักเสบ เนื่องจากแพ้แชมพู หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นผม หากมีอาการแพ้ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นทันที และไม่ควรเกาแม้จะมีอาการคัน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
  • กลาก เป็นภาวะผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งอาจทำให้หนังศีรษะแห้ง แดง คัน หรือลอกได้
  • สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังบริเวณศีรษะแบ่งตัวเร็วกว่าปกติและอักเสบ จนเกิดเป็นแผ่นเกล็ด แดง และคัน
  • การรักษาหนังศีรษะลอก 

    หนังศีรษะลอกอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาสระผมและครีมนวดผมที่มีส่วนประกอบ เช่น 

    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ช่วยผลัดเซลล์ผิวส่วนเกินออกจากหนังศีรษะก่อนที่หนังศีรษะจะเป็นสะเก็ด แต่อาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้หนังศีรษะยิ่งแห้งและลอกมากกว่าเดิม
    • ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ช่วยลดเชื้อราบนหนังศีรษะ และป้องกันการผลัดเซลล์ผิวหนังมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ซีลีเนียมซัลไฟด์อาจทำให้ผมสีอ่อน เช่น สีบลอนด์ สีเทา เปลี่ยนสีได้ 
    • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ช่วยฆ่าเชื้อราที่ทำให้หนังศีรษะติดเชื้อและหลุดลอก
    • สังกะสีไพริไธโอน (Pyrithione Zinc) ช่วยต้านเชื้อราที่ทำให้หนังศีรษะติดเชื้อและหลุดลอก สามารถใช้ได้ทุกวัน
    • น้ำมันดิน (Coal Tar) ช่วยชะลอการเจริญเติบโตและการผลัดเซลล์ผิวหนังที่ศีรษะ อย่างไรก็ตาม ยาสระผมที่มีส่วนผสมของน้ำมันดินอาจทำให้ผมสีอ่อน เช่น สีบลอนด์ สีเทา เปลี่ยนสีได้

    หากอาการหนังศีรษะลอกไม่บรรเทาลงภายใน 1 เดือน ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง เพื่อให้คุณหมอสั่งจ่ายแชมพูที่มีส่วนประกอบแรงขึ้น หรือยาทาสเตียรอยด์ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการหนังศีรษะลอกได้ดีกว่า

    การป้องกันหนังศีรษะลอก

    เคล็ดลับในการป้องกันหนังศีรษะลอกอาจมีดังนี้

    • ไม่สระผมบ่อยเกินไป ส่วนใหญ่ควรสระผม 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หากผมไม่ได้สกปรก โดนสารเคมีจากผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม หรือมีเหงื่อออกมาก
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่มีสารเคมี เพราะอาจทำให้หนังศีรษะระคายเคืองและหลุดลอกได้
    • หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้เครื่องทำความชื้นและผลิตภัณฑ์บำรุงหนังศีรษะ เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นเพียงพอ ไม่ทำให้หนังศีรษะแห้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา