backup og meta

ขี้กลาก อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    ขี้กลาก อาการ สาเหตุ การรักษา

    ขี้กลาก เป็นโรคผิวหนังทั่วไปที่เกิดจากการติดเชื้อรา โดยอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ เป็นผื่นวงกลมสีแดง รู้สึกคัน ผิวหนังลอกเป็นหย่อม ๆ บริเวณขอบผื่นมีลักษณะเป็นขุย ๆ พบได้ทั้งบริเวณผิวหนัง ผม เล็บ ขาหนีบ อาจติดต่อได้จากการสัมผัส ขี้กลากสามารถเป็นได้ทั้งในคนและสัตว์ ขี้กลากที่ไม่รุนแรงอาจรักษาได้ด้วยยาทา แต่หากเกิดการติดเชื้อรุนแรงอาจต้องรับประทานยาต้านเชื้อรา

    ขี้กลาก คืออะไร 

    ขี้กลาก คือ โรคผิวหนังทั่วไปที่เกิดจากการติดเชื้อรา โดยจะมีผื่นขึ้นเป็นวงกลมสีแดงและมีตุ่มใสอยู่ตรงกลาง รวมถึงอาจมีอาการคัน ขี้กลากสามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ แขน ขาหนีบ เท้า โดยโรคขี้กลากนั้นแตกต่างจากโรคเกลื้อนที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเหมือนกัน เนื่องจากขี้กลากเป็นโรคติดต่อ แต่โรคเกลื้อนไม่ได้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการสัมผัสผิวหนังของผู้ที่ติดเชื้อ  

    ขี้กลากแสดงอาการอย่างไรบ้าง

    ขี้กลากอาจขึ้นตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย โดยแสดงอาการระหว่าง 4-14 วันหลังจากสัมผัสกับเชื้อราที่ก่อให้เกิดขี้กลาก ซึ่งขี้กลากที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอาจมีอาการแตกต่างกันไป เช่น

    • ขี้กลากบริเวณใบหน้า เป็นผื่น รอยแดง บวมและเป็นสะเก็ด มีขอบไม่ชัด
    • ขี้กลากบริเวณหนังศีรษะ มักมีลักษณะเป็นสะเก็ด คัน แดง เจ็บเมื่อสัมผัส เส้นผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หนังศีรษะมักแห้งเป็นขุยขาว ๆ คล้ายรังแค ส่วนมากมักพบในวัยเด็กมากกว่าวัยผู้ใหญ่
    • ขี้กลากบริเวณเครา หนวด มักพบในเพศชาย ผิวหนังจะนูนแดง มีตุ่มหนอง และมีขุยตกสะเก็ดบริเวณแก้ม คาง ลำคอ
    • ขี้กลากบริเวณขาหนีบ มักจะเป็นด้านในของผิวหนังต้นขา มีอาการเจ็บ เกิดตุ่มน้ำใสหรือเป็นตุ่มหนองรอบ ๆ ขี้กลาก ผื่นแดง รวมถึงอาจรู้สึกคัน
    • ขี้กลากบริเวณมือ ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและง่ามนิ้วหนาขึ้น ตกสะเก็ด อาจเป็นได้ทั้งมือข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นข้างเดียว
    • ขี้กลากบริเวณเท้า หรือโรคน้ำกัดเท้า เป็นบริเวณง่ามนิ้วเท้าโดยเฉพาะนิ้วนางและนิ้วก้อย รวมถึงฝ่าเท้ามักมีอาการบวม แดง แสบและคัน

    ขี้กลากมีสาเหตุมาจากอะไร

    ขี้กลากเกิดจากการติดเชื้อราที่ชื่อว่า Dermatophytes ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้บนดิน ผ้าเช็ดตัว หวี ของใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน โดยเชื้อราชนิดนี้อาจแพร่กระจายได้ดังนี้

    • คนกับคน การสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังผู้ติดเชื้อ
    • สัตว์กับคน กลากสามารถแพร่กระจายขณะลูบคลำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว
    • วัตถุกับคน โดยการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น หวี แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
    • ดิน หากสัมผัสกับดินที่มีเชื้อราก็อาจส่งผลให้เป็นโรคกลากได้

    ขี้กลากและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดขี้กลากมีหลายประการ เช่น

  • ระบบภูมิคุ้นกันอ่อนแอ
  • ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อรา เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หมอน
  • สัมผัสกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • สภาพอากาศร้อนชื้น
  • ใส่เสื้อผ้ารัดรูป ระบายอากาศได้ไม่ดี
  • ขี้กลากมีวิธีรักษาอย่างไร 

    ขี้กลากอาจรักษาได้ด้วยการใช้ครีมต้านเชื้อรา เช่น โคลทรีมาโซล (Clotrimazole) เทอร์บินาไฟน์ (Terbinafine) มิโคนาโซล (Miconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) โดยอาจต้องทาประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสในการเป็นซ้ำ หากมีอาการรุนแรง คุณหมออาจจ่ายยารับประทานให้ เช่น เทอร์บินาไฟน์ (Terbinafine) อิทราโคนาโซล  (Itraconazole) และควรหมั่นสังเกตตนเองและผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมออีกครั้ง

    ขี้กลากมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง

    วิธีป้องกันการเกิดขี้กลากอาจทำได้ดังนี้

    • รักษาผิวให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ เพราะความชื้นอาจทำให้เกิดเชื้อราได้
    • ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง เมื่อสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง หากสัตว์เลี้ยงที่มีอาการขนร่วงง่ายอาจเสี่ยงต่อการเป็นขี้กลากควรพาไปพบสัตว์แพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
    • อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังจากออกกำลังกาย ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เหงื่อออก รวมถึงเช็ดทำความสะอาดผิวหนังให้แห้งก่อนการใส่เสื้อผ้า
    • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า
    • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่เปียกหรือชื้นเป็นเวลานาน รวมทั้งควรเปลี่ยนชุดชั้นใน และถุงเท้าอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
    • ควรสวมใส่รองเท้าเมื่อเข้าห้องน้ำหรือบริเวณสระว่ายน้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา