backup og meta

เมตาบอลิซึม เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    เมตาบอลิซึม เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน

    เมตาบอลิซึม (Metabolism) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต หากร่างกายป่วยเป็นโรคเบาหวานมักทำให้การทำงานของเมตาบอลิซึมเกิดการเสียสมดุล การเผาผลาญไขมันและโปรตีนในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย  โดยเฉพาะเมื่อร่างกายขาดแคลนพลังงานจากน้ำตาล ทำให้ร่างกายเลือกเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานทดแทนจนอาจนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นกรดและอาจทำให้เสียชีวิตได้

    เมตาบอลิซึมคืออะไร

    เมตาบอลิซึมเป็นกระบวนการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ จากอาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานให้ร่างกายสามารถนำไปใช้

    เมื่อบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าสู่ร่างกาย เอนไซม์ในระบบย่อยอาหารจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาล ไขมันเป็นกรดไขมัน และย่อยโปรตีนเป็นกรดอะมิโน โดยสารอาหารต่าง ๆ ที่ผ่านการย่อยแล้วจะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต

    ทั้งนี้ อัตราการเผาผลาญอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน (Basal Metabolic Rate หรือ BMR) ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขนาดตัว เพศ อายุ การออกกำลังกาย พฤติกรรมการใช้ชีวิต และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

    เมตาบอลิซึม และบทบาทของอินซูลิน

    อินซูลินถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเผาผลาญพลังงานและการจัดการพลังงานทั้งในรูปแบบของการกักเก็บและการออกซิเดชัน (Oxidation) ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนอาหารที่ร่างกายได้รับให้กลายเป็นโมเลกุลย่อยที่มีขนาดเล็กลง รวมทั้งเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน  ทั้งนี้หากร่างกายมีกระบวนการเผาผลาญและการออกซิเดชั่นในปริมาณที่เหมาะสม จะเกิดผลดีต่อร่างกาย แต่หากขาดความสมดุลจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

    สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การฉีดหรือบริโภคอินซูลินทดแทน เป็นวิธีการควบคุมลดระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปในผู้ป่วยเบาหวานให้ลดลง โดยอินซูลินทดแทนจะทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนอินซูลินที่ร่างกายผลิตได้ โดยการลำเลียงน้ำตาลในเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ และนำน้ำตาลส่วนเกินไปกักเก็บไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน ในรูปแบบของพลังงานทดแทนหรือไกลโคเจน (Glycogen) ทำให้กระบวนการเมตาโบลิซึมในร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติ

    เมตาบอลิซึม ได้รับผลกระทบอย่างไรจากโรคเบาหวาน

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งโดยผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่มีหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานขึ้นตา

    โดยโรคเบาหวานนั้นส่งผลกระทบต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย ในลักษณะต่อไปนี้

    • เมตาบอลิซึมคาร์โบไฮเดรต ร่างกายจะเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาล โดยมีอินซูลินทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ด้วยการลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อินซูลินที่ผลิตได้น้อยกว่าคนทั่วไป เป็นสาเหตุให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่อง เมื่อร่างกายได้รับพลังงานจากน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าที่ต้องการ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการเหนื่อยล้าหรือหมดแรง
    • เมตาบอลิซึมไขมัน ผู้ป่วยเบาหวานมักได้รับพลังงานจากน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานจะเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานมากกว่าปกติ เพื่อทดแทนพลังงานจากน้ำตาลที่ขาดแคลน โดยกระบวนการนี้ทำให้เกิดการสะสมของกรดคีโตน (Ketone) ในกระแสเลือดและนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นกรด หรือคีโตอะซิโดซิส (Ketoacidosis) ซึ่งอาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดเป็นกรดคือ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ผิวแห้ง หายใจติดขัด หรืออ่อนเพลีย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ภาวะเลือดเป็นกรดอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิตได้
    • เมตาบอลิซึมโปรตีน เมื่อพลังงานจากระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานจะย่อยสลายโมเลกุลจากโปรตีนที่เก็บสะสมไว้ในกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนโดยเรียกกระบวนการนี้ว่าแคแทบอลิซึม (Catabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการย่อยสลายโมเลกุลเพื่อให้ได้พลังงาน ทั้งนี้ กระบวนการย่อยสลายโมเลกุลจากกล้ามเนื้อเพื่อให้ได้พลังงานมักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยมากหรือไม่ได้เลยเนื่องจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งจะส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลงจนรู้สึกอ่อนล้าที่กล้ามเนื้อได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา