backup og meta

ตกขาวแบบไหนท้อง หรือเป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ

ตกขาวแบบไหนท้อง หรือเป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ

ตกขาวเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือในช่วงตั้งครรภ์ที่อาจทำให้ลักษณะหรือสีของตกขาวเปลี่ยนแปลงไป จึงอาจทำให้ผู้หญิงหลายคนเกิดความสงสัยว่า ตกขาวแบบไหนท้อง การเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุและลักษณะต่าง ๆ ของตกขาว จึงอาจช่วยให้สามารถเข้าใจและรับมือได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

ตกขาวแบบไหนท้อง

ตกขาวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกคน เนื่องจากตกขาวเป็นการหลั่งของเหลวหรือสารคัดหลั่งเพื่อช่วยทำความสะอาดช่องคลอด โดยช่องคลอดจะดักจับสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเซลล์ที่ตายแล้ว จากนั้นขับออกมาในรูปแบบของตกขาว นอกจากนี้ ยังอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไปยังมดลูก ซึ่งตกขาวแบบไหนท้องอาจสังเกตได้ยาก เนื่องจากลักษณะของตกขาวอาจมีความแตกต่างจากตกขาวในช่วงเวลาปกติเพียงเล็กน้อย แต่อาจสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตกขาวคนท้องได้ ดังนี้

  • ตกขาวมีสีขาวใสคล้ายน้ำนม
  • ตกขาวเป็นสีชมพูหรือน้ำตาล เพราะอาจมีเลือดปนเล็กน้อย
  • ตกขาวมีลักษณะเป็นเมือกบางหรือหนา
  • ตกขาวมีปริมาณมากกว่าปกติ
  • ตกขาวอาจมีกลิ่นอ่อน ๆ หรือไม่มีกลิ่น

อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการคนท้องอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรตรวจการตั้งท้องที่บ้านเพื่อยืนยันผล รวมถึงควรเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความแม่นยำ

ลักษณะของตกขาวตอนท้องที่เป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ

สำหรับผู้ที่กำลังตั้งท้องควรสังเกตลักษณะและสีของตกขาวอยู่เสมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้

  • ตกขาวสีขาวเป็นก้อน อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อรา เนื่องจากในระหว่างตั้งท้องร่างกายจะอ่อนแอมากจึงอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
  • ตกขาวสีเหลืองหรือเขียว อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม ซึ่งการติดเชื้อในขณะท้องอาจเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในท้องติดเชื้อ และอาจกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก
  • ตกขาวสีเทา อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดอักเสบ และมีกลิ่นคาว
  • ตกขาวสีน้ำตาล อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นเลือดเก่าที่คงค้างในร่างกายที่ผสมออกมากับตกขาว
  • ตกขาวสีชมพู อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ในระยะแรก หรืออาจเป็นความผิดปกติที่เป็นสัญญาณของการแท้งบุตร หรือการท้องนอกมดลูก
  • ตกขาวสีแดง ควรเข้าพบคุณหมอทันที โดยเฉพาะหากมีเลือดออกมาก มีลิ่มเลือด รวมถึงมีอาการมดลูกบีบตัวและปวดท้อง เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการแท้งบุตรหรือการท้องนอกมดลูก

ตกขาวมีความผิดปกติแบบไหน ควรเข้าพบคุณหมอ

บางกรณีลักษณะการเปลี่ยนแปลงของตกขาวอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของสุขภาพร่างกาย หากพบอาการเหล่านี้ควรเข้าพบคุณหมอ

  • ตกขาวมีสีเขียว สีน้ำตาล หรือสีเทา อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอด
  • ตกขาวมีเลือดปนมาก อาจเป็นสัญญาณการคลอดก่อนกำหนด รกผิดปกติ หรือการแท้งบุตร
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็นมาก
  • เจ็บปวดบริเวณช่องคลอด หรือมีอาการคันบริเวณช่องคลอด
โดยปกติตกขาวคนท้องอาจมีสีขาวใส สีชมพู หรือสีน้ำตาลเล็กน้อย เป็นเมือกลื่น ตกขาวมีปริมาณมากกว่าปกติ และอาจมีกลิ่นอ่อน ๆ ซึ่งตกขาวคนท้องอาจสังเกตได้ยาก ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการคนท้องอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย และควรตรวจการตั้งท้องเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal discharge during pregnancy. https://www.babycenter.com/pregnancy/your-body/vaginal-discharge-during-pregnancy_270. Accessed September 11, 2022

Vaginal discharge during pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/vaginal-discharge-during-pregnancy. Accessed September 11, 2022

Vaginal discharge in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vaginal-discharge/#:~:text=Is%20it%20normal%20to%20have,the%20vagina%20to%20the%20womb. Accessed September 11, 2022

Vaginal Discharge During Pregnancy. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-health-wellness/vaginal-discharge-during-pregnancy/. Accessed September 11, 2022

Vaginal Discharge: What’s Abnormal?. https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-discharge-whats-abnormal. Accessed September 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/08/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการท้องของคนทำหมัน เกิดขึ้นได้อย่างไร

ตกขาวคนท้อง เป็นเรื่องปกติหรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา