หากมีอาการข้างต้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจสุขภาพทันที
การรักษาอาการครรภ์เป็นพิษ
เมื่อมีอาการครรภ์เป็นพิษ โดยปกติคุณหมอมักจะแนะนำให้เร่งกำหนดการคลอดบุตร เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการชัก โรคหลอดเลือดสมอง ตกเลือดรุนแรง และช่วยลดความดันโลหิตลง อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะพิจารณาจากอายุครรภ์และสุขภาพของทารก ส่วนใหญ่อาจให้คลอดเมื่อทารกมีอายุได้ 37 สัปดาห์ หรือช่วงใกล้ถึงวันกำหนดคลอดมากที่สุดเพื่อความปลอดภัย แต่หากครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง คุณหมออาจจำเป็นต้องให้คุณแม่คลอดบุตรทันที
นอกจากการคลอดบุตร คุณหมออาจรักษาอาการครรภ์เป็นพิษด้วยวิธีต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ดังนี้
- ยาลดความดันโลหิต เพื่อช่วยลดความดันโลหิตหากมีค่าระดับความดันโลหิตมากกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท
- ยากันชัก หากมีอาการครรภ์เป็นพิษรุนแรง คุณหมออาจให้ยากันชัก เช่น แมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulfate)
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ คุณหมออาจให้ยากลุ่มนี้ต่อเมื่อคุณแม่อายุครรภ์ไม่เกิน 34 สัปดาห์ ร่วมกับมีภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง และกลุ่มอาการ HELLP ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ร่วมกับมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และตับทำงานผิดปกติ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อาจช่วยให้ปอดของทารกทำงานได้ดีขึ้น และทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสเจริญเติบโต เพื่อเตรียมพร้อมใช้ชีวิตอยู่โลกภายนอก เมื่อจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด
วิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่อาจมีวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยง ดังนี้
- รับประทานอาหารเสริม เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินดี น้ำมันตับปลา กระเทียม กรดโฟลิก หรือควบคุมปริมาณเกลือในอาหาร ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าช่วยลดความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษสูง อาจต้องรับประทานแอสไพรินในปริมาณไม่เกิน 81 มิลลิกรัม โดยเริ่มรับประทานหลังจากตั้งครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม อาหารไขมันสูง และของทอด และรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้มากขึ้น
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ปรับท่านอน โดยอาจนอนตะแคงซ้ายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักของทารกกดทับหลอดเลือดใหญ่ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี
- หยุดสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนดเป็นประจำ เช่น อัลตราซาวด์ ตรวจเลือด ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ ตรวจความดันโลหิต
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย