backup og meta

พุงคนท้องระยะแรก มีลักษณะอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    พุงคนท้องระยะแรก มีลักษณะอย่างไร

    พุงคนท้องระยะแรก อาจมีลักษณะขยายใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่บางคนก็อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เนื่องจากทารกยังคงมีขนาดตัวเล็กอยู่ แต่อาจสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ เช่น ประจำเดือนขาด เต้านมคัด อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนง่าย หากทราบว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการให้ทารกในครรภ์

    ลักษณะของ พุงคนท้องระยะแรก

    ลักษณะของพุงคนท้องระยะแรก อาจสังเกตได้ดังนี้

    • พุงขยายใหญ่ขึ้น และยื่นออกมาด้านหน้าเล็กน้อย
    • สะดืออาจมีลักษณะแบนราบหรือนูนออกมา
    • บางคนอาจรู้สึกปวดสะดือเมื่อสัมผัสบริเวณหน้าท้อง

    อย่างไรก็ตาม พุงคนท้องระยะแรกของบางคนอาจแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ได้เช่นกัน

    อาการของคนท้องระยะแรก

    นอกเหนือจากการขยายของพุงคนท้องระยะแรก ยังอาจสังเกตอาการคนท้องอื่น ๆ ได้อีก ดังนี้

  • เลือดออกทางช่องคลอด คุณแม่ที่ตั้งท้องอาจมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนในเยื่อบุโพรงมดลูก และอาจมีอาการปวดเกร็งท้องน้อยร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่ามีเลือดออกในปริมาณมาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือการแท้งบุตร
  • เต้านมคัด เต้านมขยาย การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมสำหรับทารก ทำให้มีอาการคัดเต้า เจ็บเต้านม และเต้านมขยายใหญ่ขึ้น โดยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการสวมเสื้อชั้นในที่สวมใส่สบาย ไม่กดทับเต้านม
  • คัดจมูก ร่างกายของคุณแม่อาจผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการผลิตเลือดไปหล่อเลี้ยงทารก ซึ่งอาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม และส่งผลให้มีอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหล
  • แพ้ท้อง คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น บางคนอาจมีความรู้สึกอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ หรืออาจรู้สึกเหม็นกลิ่นอาหารบางชนิด ในขณะที่บางคนก็อาจไม่มีอาการแพ้ท้องใด ๆ
  • อ่อนเพลีย เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อาจชะลอระบบการย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน อ่อนเพลีย และรู้สึกเหนื่อยง่าย คุณแม่บางคนอาจมีอาการง่วงนอนมากขึ้นร่วมด้วย
  • ปัสสาวะบ่อย เกิดจากการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจทำให้มดลูกเริ่มขยายตัว และกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยด้วยเช่นกัน
  • ระบบย่อยอาหารมีปัญหา ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นสูง อาจชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้เคลื่อนไหวช้าลง ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก ท้องอืด กรดไหลย้อน หรือจุกเสียดท้องได้
  • การดูแลตัวเองขณะตั้งท้อง

    การดูแลตัวเองขณะตั้งท้อง มีดังต่อไปนี้

    • การดูแลผิวบริเวณพุงคนท้องระยะแรก

    เนื่องจากการขยายตัวของพุงคนท้องระยะแรกอาจทำให้เกิดรอยแตกลาย ที่มักจะไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ หากคุณแม่อาจต้องการป้องกันไม่ให้เกิดรอยแตกลายมากนัก ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid)

    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

    คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม โฟเลต และเหล็ก เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เนื้อแดง เต้าหู้ อัลมอนด์ ไข่ เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับท่อประสาทของทารก

    นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เช่น ชีส ไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบ อาหารแปรรูป รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกพัฒนาการล่าช้า พิการแต่กำเนิด และคลอดก่อนกำหนด

    • พักผ่อนให้เพียงพอ

    คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และควรปรับท่านอนให้เหมาะสม โดยคุณหมออาจแนะนำให้นอนท่าตะแคงซ้าย เพื่อลดการกดทับหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี หากต้องการนอนหงายควรใช้หมอนรองบริเวณหลัง ระหว่างขา และใต้ท้อง เพื่อช่วยลดแรงกดทับ

    • ออกกำลังกาย 

    ควรออกกำลังกายในระดับเบา เช่น การเดิน ว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย

    • งดสูบบุหรี่

    บุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนลดลง เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ล่าช้า น้ำหนักแรกเกิดน้อย พิการแต่กำเนิด มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อโรคหอบหืด และคลอดก่อนกำหนด จึงควรงดสูบบุหรี่และเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่สูบบุหรี่

    • ฉีดวัคซีน 

    คุณแม่ควรฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองและทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับวัคซีนป้องกันโรค

    • ตรวจสุขภาพ 

    คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อตรวจคัดกรองโรค และตรวจสุขภาพทารกในครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา