backup og meta

ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด ประโยชน์และวิธีใช้งาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด ประโยชน์และวิธีใช้งาน

    ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด คือ แผ่นผ้ายืดหรือเข็มขัดรัดหน้าท้อง ขนาดประมาณ 8-10 นิ้ว ใช้สำหรับพันรอบหน้าท้อง ตรงกับตำแหน่งสะโพก เพื่อช่วยรัดหน้าท้องคุณแม่ที่เพิ่งคลอดให้เข้ารูปหลังจากหน้าท้องขยายใหญ่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อคลอดแล้วขนาดหน้าท้องค่อย ๆ กลับมามีขนาดใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์ภายใน 6-8 สัปดาห์ บางรายอาจประสบกับปัญหากล้ามเนื้อหน้าท้องแยกออกจากกันจึงอาจใช้เวลานานกว่าที่หน้าท้องจะยุบตัวกลับมาเป็นขนาดปกติ ผ้ารัดหน้าท้องอาจช่วยให้หน้าท้องกระชับ และช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังคลอดให้กลับไปเป็นปกติได้เร็วขึ้น ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอดสามารถใช้ได้ทั้งกับคุณแม่ผ่าคลอดที่ต้องการให้แผลผ่าตัดสมานและติดกัน และคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติและต้องการให้มดลูกกลับสู่สภาพเดิม หรือที่เรียกว่า มดลูกเข้าอู่ ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ควรปรับขนาดผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอดให้เข้ากับสรีระของคุณแม่หลังคลอดมากที่สุด เพื่อความสบายในการสวมใส่

    ประเภทของ ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด

    ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด แบ่งประเภทได้ดังนี้

    1. ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอดชนิดผ้ายืด เป็นผ้ารัดทำมาจากผ้ายืดที่มีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น เมื่อสวมใส่แล้วสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก ไม่อึดอัดหรือรัดแน่นจนเกินไป ทั้งนี้ ควรใช้ผ้าที่มีความยาวเพียงพอที่จะพันรอบบริเวณสะโพกและหน้าท้องได้ อาจใช้ผ้ายืดทั่วไปแล้วเหน็บเข้าตัวเพื่อเก็บปลายหรือใช้แบบมีตะขอหรือตีนตุ๊กแก
    2. เข็มขัดรัดหน้าท้องหลังคลอด เข็มขัดช่วยในการพยุงสะโพกและหลัง ช่วยปรับท่าทางการเคลื่อนไหวและลดอาการปวดหลัง และอาจช่วยรองรับบริเวณอุ้งเชิงกรานไม่ให้รับน้ำหนักมากเกินไป มีทั้งแบบตะขอ และแบบตีนตุ๊กแก
    3. ชุดรัดหน้าท้อง (Shape Wear) เป็นชุดที่ช่วยให้สัดส่วนของหญิงที่ตั้งครรภ์และคุณแม่หลังคลอดเข้าที่เร็วขึ้น ทำจากผ้ายืด เพื่อสวมใส่ทั้งตัวหรือใส่เป็นกางเกงชั้นในเอวสูงที่ขึ้นมาถึงหน้าท้อง ข้อเสีย คือ อาจ รัดแน่นเกินไป และอาจไม่สะดวกหากคุณแม่หลังคลอดกลับมีเป็นประจำเดือนตามปกติแล้ว ทั้งนี้ ควรเลือกให้เหมาะสมกับสรีระมากที่สุด เพื่อไม่ให้รัดแน่นจนทำให้รู้สึกไม่สบายตัว

    ประโยชน์ของผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด

    ประโยชน์ของการใช้ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด อาจมีดังนี้

    • ช่วยกระชับสรีระ และช่วยพยุงท้องที่ย้วยหรือล้นออกมา
    • ช่วยให้หน้าท้องยุบเร็วขึ้น
    • อาจช่วยให้มดลูดเข้าที่ได้เร็ว
    • ช่วยให้รอยแผลผ่าตัดของคุณแม่ผ่าคลอดสมานได้เร็วขึ้น
    • ลดแรงสะเทือนเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยให้เดินได้สะดวก
    • ช่วยประคองเอวและหลัง
    • ช่วยลดอาการเจ็บเมื่อต้องอุ้มลูกหรือระหว่างการให้นม

    ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด ใช้งานอย่างไร

    คุณแม่ควรใช้ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอดทันที เพื่อพยุงท้องให้กระชับ ไม่ย้วยออกมาเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย และลดอาการเจ็บแผลผ่าตัดในกรณีผ่าคลอด โรงพยาบาลบางแห่งอาจเตรียมผ้ารัดหน้าท้องไว้ให้ใส่ในระยะแรกหลังคลอด หรือสามารถหาซื้อเตรียมไว้ได้ด้วยตัวเอง คุณแม่อาจขอให้พยาบาลช่วยแนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้องได้ การใส่ผ้ารัดหน้าท้องเป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เพียงนำผ้ารัดหน้าท้องมาพันรอบบริเวณหน้าท้องและสะโพก ความยาวของผ้าที่เหมาะสมควรเป็นขนาดของสะโพกในช่วงเดือนอายุครรภ์ 8 เดือน ซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงสะโพกหลังคลอด

    คุณแม่ควรสวมใส่ผ้ารัดหน้าท้องตลอดเวลา รวมไปถึงตอนเข้านอน เพื่อให้แผลสมานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ควรปรับผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอดให้กระชับและพอดีกับสรีระ ไม่หลวมหรือรัดแน่นเกินไป เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองและทำให้หายใจไม่สะดวก ทั้งนี้ ควรมีผ้ารัดหน้าท้องประมาณ 2-3 ชิ้นเพื่อความสะดวกในการสลับใช้งานและทำความสะอาด

    วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด

    วิธีดูแลตัวเองของคุณแม่หลังคลอด อาจมีดังนี้

    ออกกำลังกายเบา ๆ หากหายจากอาการเจ็บแผลคลอดและไม่มีอาการอ่อนเพลียแล้ว คุณแม่อาจออกกำลังกายเบา ๆ หรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่หักโหมจนเกินไป เช่น การเดิน การกำหนดลมหายใจเข้า-ออกในขณะเกร็งหน้าท้อง เพื่อช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายกลับมาในสภาวะปกติโดยเร็วที่สุด อาจเลือกวิธีออกกำลังกายที่ช่วยกระชับกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เช่น การปั่นจักรยานอากาศ การออกกำลังกายแบบเคเกิลหรือการขมิบกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และควรหลีกเลี่ยงท่าออกกำลังกายที่ต้องกระโดดหรือทำให้ออกเหงื่อเยอะ

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน เพื่อซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอไปในระหว่างการตั้งครรภ์ และเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายในระหว่างการให้นมบุตร โดยคุณแม่ต้องการพลังงานอย่างน้อย 1,800-2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวันในช่วงให้นม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทั้งคุณแม่และลูกน้อย อาหารที่คุณแม่ควรบริโภค ได้แก่

  • ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ โฮลวีต ข้าวกล้อง
  • ผัก เช่น ผักสีเขียวเข้ม สีแดง และสีส้ม พืชตระกูลถั่ว ผักตระกูลกะหล่ำ
  • ผลไม้ เช่น มะละกอ ส้ม อินทผลัม กล้วย แคนตาลูป
  • ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น นมวัวไขมันต่ำ
  • โปรตีน เช่น เนื้อไม่ติดมัน ปลา ถั่ว
  • พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ควรหาเวลาพักผ่อนและใช้เวลาอยู่กับตัวเองบ้างเมื่อมีโอกาส เช่น ออกไปเดินเล่นคนเดียวข้างนอกบ้าน อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือทำกิจกรรมที่สนใจในเวลาที่ลูกนอนหลับ คนในบ้านอาจเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลเด็ก ด้วยการเป็นผู้ช่วยในการให้นมลูกและเปลี่ยนผ้าอ้อม โดยคุณแม่อาจปั๊มนมเอาไว้ล่วงหน้าและผลัดเวรกันดูแลลูก เพื่อจัดสรรเวลาเพื่อให้คุณแม่สามารถมีเวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา