พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 21 ในช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์จะมีขนาดเท่ากับแครอท ลำตัวยาวประมาณ 26.7 เซนติเมตรโดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า และมีน้ำหนักประมาณ 340 กรัม อวัยวะต่าง ๆ เริ่มทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น ลำไส้พัฒนาจนสามารถดูดซึมน้ำตาลในรูปของเหลว ผ่านทางระบบลำไส้ใหญ่ได้บ้างแล้ว และเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นทำให้สามารถรับรู้ถึงอาการดิ้นได้อย่างชัดเจน
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 21
ลูกจะเติบโตอย่างไร
ในช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์จะมีขนาดเท่ากับแครอท คือมีความสูงประมาณ 26.7 เซนติเมตรโดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า และมีน้ำหนักประมาณ 340 กรัม
ลำไส้ของทารกได้พัฒนาจนสามารถดูดซึมน้ำตาลในรูปของเหลว ผ่านทางระบบลำไส้ใหญ่ได้บ้าง แต่หลัก ๆ แล้วยังรับสารอาหารผ่านทางสายรกอยู่
ตับและม้ามของทารกจะทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดขึ้นมา ไขกระดูกได้รับการพัฒนาจนสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดขึ้นได้ และกลายเป็นอวัยวะหลักที่ใช้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เมื่อตั้งครรภ์ได้ 9 เดือน และหลังคลอด โดยตับอ่อนจะหยุดผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงในสัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งครรภ์ และตับจะหยุดผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ก่อนถึงกำหนดคลอดประมาณสองถึงสามสัปดาห์
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
หญิงตั้งครรภ์อาจรู้สึกสบายเนื้อสบายตัวขึ้นในช่วงเวลานี้ หน้าท้องไม่ใหญ่จนเกินไป และความรู้สึกอึดอัดจากการตั้งครรภ์มักหายไปเกือบหมดแล้ว แต่ยังมีปัญหาอื่นที่อาจต้องเผชิญ เช่น ปัญหาสิว ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น การลดปัญหาสิว ควรทำความสะอาดผิวด้วยสบู่หรือคลีนเซอร์ชนิดอ่อนโยนต่อผิววันละสองครั้ง และควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อบำรุงผิว รวมทั้งเลือกใช้เครื่องสำอาง ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยารักษาสิวหรือใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวใด ๆ ที่ไม่ได้สั่งจากแพทย์หรือเภสัชกรโดยตรงก่อน เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้
นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ 21 หญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะมีเส้นเลือดขอดด้วย เนื่องจากทารกที่กำลังเติบโตนั้นจะสร้างแรงกดมากขึ้นต่อเส้นเลือดในบริเวณขา ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้เส้นเลือดอ่อนแอลงด้วย
นอกจากนี้ อาจเสี่ยงที่จะมีเส้นเลือดขอด ถ้าสมาชิกในครอบครัวเคยเป็น ซึ่งอาการเส้นเลือดขอดจะแย่ลง ถ้าเคยตั้งครรภ์มากกว่า 2 ครั้งและมีอายุมากขึ้น สำหรับการป้องกันและลดปัญหาเส้นเลือดขอดนั้น ควรออกกำลังกายทุกวัน ยกขาและเท้าขึ้นเมื่อมีโอกาส ตอนตะแคงซ้าย และใส่เข็มขัดพยุงครรภ์
นอกจากนั้น ในบางราย อาจมีอาการของกลุ่มเส้นเลือดฝอยบนผิวหนังด้วย โดยเฉพาะในบริเวณข้อเท้า หลังเท้า หรือใบหน้า โดยปกติก็มักจะหายไปเองหลังคลอด
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
ในช่วงพัฒนาการของทารก สัปดาห์ที่ 21 สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวังและดูแลตนเอง ควรปฏิบัติดังนี้
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีความหวานมากเกินไป อาจดื่มน้ำผลไม้แทน
- หลังปัสสาวะ พยายามเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่วงนี้
- ปัสสาวะก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่รัดแน่นเกินไป
- ควรสวมใส่ชุดชั้นผ้าฝ้าย และไม่ควรสวมชุดที่รัดแน่นเกินไปโดยเฉพาะบริเวณอกและหน้าท้อง
การพบหมอ
ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง
ถึงแม้จะยังอีกหลายเดือนกว่าจะถึงกำหนดคลอด แต่เต้านมอาจเริ่มคัดตึง ในบางรายอาจเกิดอาการท่อน้ำนมอุดตันได้ ควรใช้ลูกประคบอุ่น ๆ นวดเบา ๆ ซึ่งจะช่วยสลายสิ่งอุดตันในท่อน้ำนมได้ รวมทั้งควรสังเกตและสำรวจเต้านมตัวเองเป็นประจำทุกเดือนเพื่อตรวจดูเนื้องอก เนื่องจากเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการตั้งครรภ์ หากคลำพบก้อนที่กลิ้งไปมาบริเวณเต้านม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัย
การทดสอบใดที่ควรรู้
ในช่วงเวลาหลังจากนี้ อาจจำเป็นต้องพบคุณหมอบ่อยขึ้น ซึ่งคุณหมออาจตรวจร่างกายด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ชั่งน้ำหนักและวัดความดันโลหิต
- ตรวจปัสสาวะเพื่อหาค่าน้ำตาลและโปรตีน
- วัดอัตราการเต้นของหัวใจ
- วัดขนาดมดลูกโดยการคลำจากภายนอก เพื่อคำนวณหาวันเวลาที่ครบกำหนดคลอด
- วัดความสูงของยอดมดลูก
- ตรวจสอบอาการบวมของมือและเท้า รวมทั้งตรวจหาเส้นเลือดขอดบริเวณขาด้วย
- สอบถามอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการที่ไม่ปกติ
- จัดเตรียมรายการข้อสงสัยหรือปัญหา ที่ต้องการพูดคุยหรือสอบถามคุณหมอ
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
คาเฟอีนและสารทดแทนความหวาน
หญิงตั้งครรภ์สามารถดื่มน้ำอัดลมชนิดน้ำตาลน้อยได้ ตราบใดที่ไม่บริโภคคาเฟอีนมากเกินไป ทั้งนี้ ควรจำกัดการบริโภคคาเฟอีนแค่วันละ 200 มก. การดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวานนั้นถือว่าค่อนข้างปลอดภัย ตราบใดที่ดื่มในปริมาณที่เหมาะสม และควรดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้ด้วย เพื่อเติมน้ำและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
อาหารที่มีส่วนผสมของตับ
ตับสัตว์นับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และโปรตีน แต่มีวิตามินเอชนิดไม่เปลี่ยนรูป (หรือเรียกอีกอย่างว่าเรตินอล) ในปริมาณที่สูงด้วย วิตามินชนิดไม่เปลี่ยนรูปนี้มักพบในอาหารที่มาจากสัตว์ อย่างเช่น ไข่ นม และตับ การกินวิตามินชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิการแต่กำเนิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ในตับวัวยังมีวิตามินเอที่ไม่เปลี่ยนรูปมากเป็นสามเท่า ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดที่คุณหมอแนะนำให้รับประทานต่อวัน ฉะนั้น จึงไม่ควรบริโภคตับทุกวัน