ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ อาจนำไปสู่การปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้องในการดูแลรักษาสุขภาพขณะตั้งครรภ์ และอาจส่งผลต่อภาวะการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้ หากได้ยินเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา หรือความเชื่อจากคนรอบข้าง คุณแม่และคุณพ่อมือใหม่อาจต้องค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ หรือปรึกษาสอบถามจากคุณหมอถึงความเชื่อเหล่านั้น
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์
ระหว่างตั้งครรภ์คุณพ่อคุณแม่มักศึกษาหาข้อมูลเพื่อดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยและแข็งแรงมากที่สุด แต่อาจได้รับข้อมูลหรือความเชื่อที่แน่ใจว่าจริงหรือเท็จ สำหรับความเชื่อที่มักได้ยินกันบ่อย ๆ ได้แก่
ความเชื่อที่ 1 การรับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมาก ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ อาจทำให้ลูกแพ้อาหารเหล่านั้น
บางคนอาจจะเคยได้ยินว่า หากในช่วงที่กำลังท้องอยู่ คุณแม่รับประทานอาหารบางอย่างมาก ๆ เช่น ถั่ว นม กุ้ง อาจทำให้ลูกที่เกิดมามีอาการแพ้อาหารเหล่านั้นได้ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิด การรับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงตั้งครรภ์มาก ๆ นั้นไม่ได้ส่งผลอะไรให้ลูกน้อยแพ้อาหารเหล่านั้นเมื่อคลอดออกมา เว้นเสียแต่ว่าตัวคุณแม่จะมีโรคภูมิแพ้ต่ออาหารเหล่านั้นอยู่ก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณที่มากเกินไปย่อมไม่เป็นผลดีทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและพอดี ที่สำคัญคือการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อย
ความเชื่อที่ 2 คุณแม่ควรรับประทานอาหารเผื่อลูกในท้อง
เมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนอาจจะเริ่มบำรุงร่างกาย และรับประทานอาหารให้มากขึ้น เพราะต้องการเผื่อลูกน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าคุณแม่นั้นควรจะได้รับแคลอรี่ที่เพียงพอต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ แต่ไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
มีงานวิจัยที่พบว่า คุณแม่ที่รับประทานอาหารมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคหัวใจ เมื่อลูกน้อยเกิดมาก็อาจเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้ด้วย
คุณแม่ควรค่อย ๆ เพิ่มปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับไปในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ และเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ และดีต่อสุขภาพ
ความเชื่อที่ 3 ผู้หญิงจะไม่ตั้งท้อง หากมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน
มีความเชื่อกันว่า การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือนนั้นจะไม่ทำให้ตั้งครรภ์ เพราะเลือดประจำเดือน จะช่วยล้างเชื้ออสุจิให้ออกไป หรือไข่ที่ปฏิสนธิจะไม่มีที่ให้เกาะ แล้วไหลออกไปพร้อมกับประจำเดือน
ความจริงแล้วการมีเซ็กส์ขณะมีประจำเดือนนั้นยังมีโอกาสทำให้ตั้งครรภ์ได้ เพราะการตั้งครรภ์นั้นจะขึ้นอยู่กับการตกไข่ ไม่ใช่การมีประจำเดือน ผู้หญิงอาจมีรอบประจำเดือนสั้น และมีการตกไข่ในช่วงวันท้าย ๆ ของการมีประจำเดือน หากมีเพศสัมพันธ์ช่วงนั้นก็อาจทำให้ผู้หญฺิงท้องได้ เพราะเชื้ออสุจิสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ แล้วฝังตัวที่มดลูกพัฒนาเป็นตัวอ่อน
ความเชื่อที่ 4 ผู้หญิงท้องไม่ควรออกกำลังกาย
ผู้หญิงท้องควรหลีกเลี่ยงการออกแรงอย่างหนัก จนอาจทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า ไม่ควรออกแรงหรือออกกำลังกายเลยแม้แต่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงท้องสามารถออกกำลังกายได้ คุณหมอส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำให้คุณแม่ออกกำลังกายเบา ๆ ขณะตั้งครรภ์อีกด้วย
การออกกำลังกายในช่วงตั้งครรภ์ จะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อีกทั้งยังทำให้คุณแม่รู้สึกกระฉับกระเฉงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง คุณหมออาจจะแนะนำไม่ให้ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ เช่น
- โรคหอบหืด
- โรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- มีเลือดออกกระปริดกระปรอย
- เคยคลอดก่อนกำหนด
- เคยแท้งบุตร หรือมีความเสี่ยงที่จะแท้งบุตร
- มดลูกอ่อนแอ
คุณแม่ควรปรึกษากับคุณหมอ ก่อนเริ่มต้นโปรแกรมการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจะสามารถช่วยตรวจดูร่างกายว่าเหมาะสำหรับการออกกำลังกายหรือไม่ และช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม ได้ด้วย