backup og meta

บุหรี่ไฟฟ้า ช่วยเลิกบุหรี่ ได้จริงหรือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

    บุหรี่ไฟฟ้า ช่วยเลิกบุหรี่ ได้จริงหรือ

    บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสูบบุหรี่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน หลายคนอาจสงสัยว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงหรือ ในความเป็นจริงแล้ว แม้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะดูปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ตามปกติ และช่วยจัดการกับอาการอยากนิโคตินได้ แต่ก็ยังทำให้ร่างกายได้รับนิโคติน ตัวทำละลาย และสารแต่งกลิ่นและรส ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย โดยเฉพาะปอด รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย

    บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร

    บุหรี่ไฟฟ้า คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างความร้อนและละอองลอยหรือหมอกยาที่ประกอบด้วยสารนิโคติน ตัวทำละลาย เช่น โพรไพลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) หรือกลีเซอรีนจากพืช สารแต่งกลิ่นและรส ผู้สูบจะสูบละอองลอยนี้เข้าไปแทนการสูดควันบุหรี่ที่ได้จากการเผาไหม้แบบบุหรี่ปกติ ทำให้ผู้สูบได้รับผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่ปกติ เช่น รู้สึกผ่อนคลาย โดยไม่ทำให้เกิดน้ำมันดิน (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่อันตรายที่สุดภายในบุหรี่

    สำหรับในประเทศไทย การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งห้ามขาย หรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มาตรา 29/9 มาตรา 56/4 และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประเภทของบุหรี่ไฟฟ้า

    บุหรี่ไฟฟ้าอาจแบ่งเป็นประเภทได้ ดังนี้

    • บุหรี่ไฟฟ้าแบบบุหรี่ เป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายบุหรี่ตามปกติ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาดเล็กหรือถ่านก้อน
    • บุหรี่ไฟฟ้าแบบปากกา (Vape Pens) เป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายกับปากกา หรือเป็นแท่งขนาดเล็ก ภายในมีน้ำยาบุหรี่และขดลวด แบตเตอรี่ของบุหรี่ไฟฟ้าแบบปากกามักจะอยู่ได้นานกว่าบุหรี่ไฟฟ้าแบบบุหรี่
    • บุหรี่ไฟฟ้าแบบแทงค์น้ำยา (Pod Systems) เป็นเครื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบพกพา มีขนาดกะทัดรัด รูปร่างคล้ายแท่ง USB สามารถถอดแทงค์น้ำยาและขดลวดออกมาทำความสะอาดหรือเปลี่ยนใหม่ได้ และมีแบตเตอรี่ภายในตัว
    • บุหรี่ไฟฟ้าแบบยิงสด (Mods) เป็นบุหรี่ไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีถังเก็บน้ำยาและแผงวงจรภายในตัว บุหรี่ประเภทนี้จะมีแรงจ่ายไฟรุนแรงกว่าบุหรี่ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ และสามารถปรับความแรงของการจ่ายไฟได้ ทำให้สามารถควบคุมการเกิดไอและความร้อนได้ตามความต้องการของผู้ใช้

    บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดาจริงหรือ

    หลายคนเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ตามปกติ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าจะใช้วิธีให้ความร้อน และทำให้สารเคมีกลายเป็นละอองลอยเพื่อให้สูบเข้าไปในร่างกาย ในขณะที่ภายในบุหรี่ปกติจะมีน้ำมันดิน คาร์บอนมอนอกไซด์ และสารเคมีที่เป็นพิษอื่น ๆ อีกมากกว่า 7,000 ชนิด ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ตามปกติ

    แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2563 เผยว่า มีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบรุนแรงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือที่เรียกว่าโรคอิวารี่ (EVALI) กว่า 2,800 ราย และมากกว่า 60 รายมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากวิตามินอีอะซิเตท (Vitamin E Acetate) ที่เป็นสารเคมีในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อสะสมภายในปอดและทำให้ปอดบาดเจ็บ จนนำไปสู่การเสียชีวิต

    ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกาจึงได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 ที่มีผลต่อระบบประสาท และอย่าดัดแปลง หรือเพิ่มสารใด ๆ ลงในบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตโดยตรง

    บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ ได้จริงหรือ

    แม้ละอองลอยจากบุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารเคมีเป็นพิษน้อยกว่าควันบุหรี่แบบปกติ แต่ในบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังมีสารอันตรายและโลหะหนักที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) อะโครลีน (Acrolein) อะเซตาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) โทลูอีน (Toluene) ตะกั่ว แคดเมียม อีกทั้งละอองลอยจากบุหรี่ไฟฟ้ายังมีอนุภาคเล็กมากจนสามารถผ่านเข้าไปยังปอดและทำร้ายปอดได้โดยง่าย

    หากกำลังตั้งครรภ์ การเลิกบุหรี่แบบปกติแล้วหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เนื่องจากสารเคมีต่าง ๆ ในบุหรี่ไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์และให้นมบุตรอาจต้องเลิกบุหรี่ด้วยวิธีที่ปลอดภัยกว่า เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน การใช้แผ่นแปะนิโคติน ซึ่งเป็นวิธีช่วยเลิกบุหรี่ด้วยการใช้สารทดแทนนิโคติน ช่วยป้องกันอาการถอนบุหรี่ได้โดยไม่มีสารอันตรายเหมือนบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่แบบปกติ

    วิธีเลิกบุหรี่

    การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด และโรคเบาหวาน หากเลิกสูบบุหรี่ได้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว โดยวิธีเลิกบุหรี่ อาจทำได้ดังนี้

  • เตือนตัวเองถึงประโยชน์ในการเลิกสูบบุหรี่ เช่น ประหยัดเงิน รู้สึกดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น ปกป้องคนในครอบครัวและคนอื่น ๆ จากควันบุหรี่มือสอง เพื่อให้มีกำลังใจในการเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ
  • ควรรับประทานผัก ผลไม้ เช่น มะนาว ส้ม ฝรั่ง เสาวรส และโปรตีนไม่ติดมัน เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง ปลา และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง ของทอด แป้ง น้ำตาล เพราะอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ง่าย
  • จัดการกับความเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง โยคะ อาจช่วยลดการอยากสูบบุหรี่เนื่องจากความเครียดได้
  • ลองใช้สารนิโคตินทดแทนต่าง ๆ เช่น แผ่นแปะนิโคติน หมากฝรั่งนิโคติน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา นอกจากนี้ อาจเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา โดยคุณหมออาจสั่งจ่ายยาที่ใช้ในการหยุดสูบบุหรี่ เช่น บูโพรพิออน (Bupropion) วาเรนิคลิน (Varenicline) ซึ่งเป็นยาที่ไม่มีส่วนประกอบของนิโคติน ทั้งนี้ ควรรับประทานยาตามคำสั่งของคุณหมออย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่น งานเลี้ยง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริเวณที่เคยสูบบุหรี่บ่อย ๆ หากอยากสูบบุหรี่ควรลองทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย เคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาล อมลูกอม แปรงฟัน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและลดความอยากสูบบุหรี่
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา