backup og meta

ความลำเอียง ปัญหาครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

ความลำเอียง ปัญหาครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

ความลำเอียง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในครอบครัว เมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกคนใดคนหนึ่งมากกว่า ทั้งนี้ แม้ว่าจะบอกลูกว่า พ่อแม่รักลูกเท่ากันทุกคน แต่หากการกระทำไม่สอดคล้องกับคำพูดข้างต้น อาจกลายเป็น ความลำเอียง ที่ทำให้ลูกรู้สึกถึงการขาดความรักและการเอาใจใส่ อาจนำไปสู่การอิจฉาริษยาที่ทำให้พี่น้องไม่รักกัน และไม่ไว้ใจกันได้ เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขและปรับความเข้าใจกับลูกโดยเร็วที่สุด

ความลำเอียงของพ่อแม่คืออะไร

เมื่อพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนแสดงความเอาอกเอาใจหรือใส่ใจต่อลูกคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ซึ่งหากเป็นบ่อยครั้งเข้า ลูกอีกคนที่ไม่ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน หรือได้รับความเอาใจใส่น้อยกว่า อาจเกิดอาการน้อยใจ และพยายามเรียกร้องความสนใจ ซึ่งนั่นคือการนำไปสู่ความรู้สึกของเด็กที่มีต่อพ่อกับแม่ว่ามีความลำเอียง

พ่อแม่มีความลำเอียงจริงหรือ

หากเป็นลูกคนเดียว ความรัก ความดูแล และการเอาใจใส่ทั้งหมดจะพุ่งไปที่ลูกคนเดียว แต่เมื่อลูกโตขึ้นและสามารถดูแลตัวเองได้มากกว่าตอนที่ยังเป็นเด็ก ความเอาใจใส่ในบางเรื่องของพ่อแม่อาจลดลงไป ดังนั้น เมื่อมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นในบ้าน ความเอาใจใส่ของพ่อกับแม่จึงเปลี่ยนไปอยู่กับสมาชิกตัวน้อยคนใหม่ในบ้านแทน

บางครั้งการแสดงออกของพ่อกับแม่ที่ลูกเข้าใจว่าเป็นความลำเอียง แท้จริงเเล้วเป็นเพียงการดูแลและปกป้องลูกคนที่อายุน้อยกว่าหรืออ่อนแอมากกว่าลูกคนที่มีความเป็นผู้ใหญ่และดูแลตัวเองได้แล้ว แต่หากมีการเปรียบเทียบในเรื่องเดียวกัน เช่น การเรียน การทำกิจกรรม รูปร่างหน้าตา ความสำเร็จ นั่นอาจเป็นความลำเอียงที่ชัดเจนและมีผลกระทบกับจิตใจและอารมณ์มากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะเป็นการแสดงออกเพื่อหวังผลในการผลักดันเพื่อให้เด็กพัฒนาตนเองก็ตาม

พฤติกรรมใดบ้างที่ทำให้ลูกรู้สึกถึง ความลำเอียง

ลักษณะพฤติกรรมของพ่อกับแม่ที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าคือ ความลำเอียง ได้แก่

  • เลือกให้เวลากับลูกคนใดคนหนึ่งมากเกินไป
  • แสดงออกซึ่งความรักกับลูกคนใดคนหนึ่งมากกว่า
  • เลือกที่จะให้ความสนใจกับคนที่เรียนเก่งมากกว่า
  • ให้สิ่งของใหม่กับพี่หรือน้องมากกว่า
  • ชื่นชมความสำเร็จของพี่หรือน้องมากกว่า
  • พูดเปรียบเทียบเรื่องต่าง ๆ ระหว่างลูก ๆ ตลอดเวลา
  • ให้คำปรึกษา หรือช่วยตัดสินใจปัญหาของพี่หรือน้องมากกว่า

หากคุณพ่อคุณแม่มีพฤติกรรมเหล่านี้หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง อาจทำไปโดยไม่รู้ตัว หรือเพื่อกดดันลูกคนอื่น ๆ ให้ทำตาม อาจทำให้เกิดปมด้อยหรือทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อกับแม่มีความลำเอียงได้ ทั้งนี้ แม้จะรู้สึกว่าลูกคนใดคนหนึ่งมีความเป็นผู้ใหญ่สามารถดูแลตนเองได้ หรือมีความสามารถมากจนไม่จำเป็นต้องคอยอบรมสั่งสอน แท้จริงแล้ว อย่าลืมว่า ลูกทุกคนยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่ไม่ต่างจากตอนที่พวกเขายังเป็นเด็กและต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่อยู่เช่นเคย ควรพยายามให้เวลากับลูก หรือของขวัญ หรือคำชื่นชมกับลูกทุก ๆ คน หรือหมั่นสังเกตความต้องการของลูกแต่ละคนเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาครอบครัวที่อาจตามมา

แก้ปัญหา ความลำเอียง ภายในบ้าน

หากลูกเอ่ยปากว่าพ่อกับแม่มีความลำเอียง หรือสังเกตเห็นว่าลูกคนใดคนหนึ่งทำตัวออกห่างจากครอบครัว ควรหาวิธีแก้ไข ดังนี้

  • ให้โอกาสในการเป็นตัวของตัวเองกับเด็ก ไม่กำหนดหรือคาดหวังความต้องการมากจนเกินไป
  • ทำบรรยากาศทุกอย่างภายในบ้านให้มีความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน หรือแม้กระทั่งเรื่องอะไรก็ตาม ทุกอย่างต้องเป็นธรรมสำหรับทุกคน ห้ามเอาเปรียบกัน
  • ให้เวลากับลูกเท่ากันทุกคน ไม่เลือกที่จะให้เวลากับใครคนใดคนหนึ่งมากไป
  • เมื่อให้รางวัลหรือของขวัญ ก็ควรจะอยู่ในความพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  • อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น หากสังเกตว่าลูกรู้สึกว่าพ่อแม่มีความ ลำเอียง
  • รักลูกให้เท่ากัน เอาใจใส่ลูกทุกคนตามสมควร
  • สอนให้ลูกมีเหตุและผล มีสติและเข้าใจถึงสาเหตุการกระทำต่างๆของพ่อแม่
  • หมั่นสังเกตอาการของลูกเสมอ หากลูกมีอาการซึมเศร้า เครียด ควรมีการพูดคัยและทำความเข้าใจกัน

เรื่องของความ ลำเอียง เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะจะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของเด็ก และหากไม่มีการพูดคุยหรือแก้ไขให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ก็จะส่งผลให้เป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจไปจนโต จนอาจเกิดอาการปลีกตัว และไม่สนใจครอบครัว เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครรัก การมีครอบครัวที่อบอุ่นสามารถทำให้เด็กเติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งและสร้างสังคมที่ดีได้ ดังนั้นการเริ่มต้นที่ดีจึงมาจากครอบครัวที่มีความรักและความอบอุ่น

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Long-Term Effects of Parental Favoritism. https://www.metroparent.com/parenting/advice/long-term-effects-favoritism/. Accessed April 15, 2022.

When Your Child Shows Parental Favoritism. https://www.verywellfamily.com/parental-favoritism-4582408. Accessed April 15, 2022.

Long Term Effects of Parental Favoritism. https://www.brparents.com/article/long-term-effects-of-parental-favoritism.html. Accessed April 15, 2022.

Sibling Rivalry: The Truth About the Family Favorite with Vera Rabie-Azoory. https://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=54008. Accessed April 15, 2022.

Signs of Parental Alienation. https://www.webmd.com/mental-health/signs-parental-alienation. Accessed April 15, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/01/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

พ่อแม่ โกหกลูก จะส่งผลต่อลูกอย่างไรบ้าง

โรคกลัวสังคม คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา