ภาษากาย ของเด็กทารกโดยเฉพาะในช่วงอายุขวบปีแรกนั้นสำคัญต่อคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกน้อยยังไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยการพูด การตีความหมายจากภาษากายได้อย่างถูกต้องจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ทราบถึงอารมณ์ ความต้องการ และความรู้สึกของลูกน้อย เพื่อที่จะตอบสนองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ความสำคัญของ ภาษากาย ในเด็ก
การทำความเข้าใจกับภาษากายของเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเสียงเด็กทารกร้องไห้ ท่าทางต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นวิธีการสื่อสารถึงความต้องการของเด็ก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรตีความหมายให้ใกล้เคียงสิ่งที่เด็กต้องการ และทำความเข้าใจ เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างเหมาะสม เด็กน้อยจะได้มีความสุขจากการดูแลเอาใจใส่ของคุณพ่อและคุณแม่
ภาษากาย ของเด็ก ๆ ที่พบได้บ่อย
เตะขา
ถ้าเด็กเตะขาพร้อมกับยิ้มและดูมีความสุข อาจเป็นสัญญาณว่า เด็กกำลังอยากเล่น แต่ถ้าเตะขาไปร้องไห้ไปด้วยอาการหงุดหงิดก็สื่อว่า กำลังมีอะไรรบกวนเด็กอยู่ อาจจะเป็นผ้าอ้อมเปียกแฉะหรืออาการท้องอืด หรือแน่นท้องต้องการเรอ ซึ่งพ่อแม่ควรรีบตรวจดูว่า มีอะไรที่ทำให้เด็กหงุดหงิดอยู่ และรีบจัดการให้ตรงกับความต้องการเพื่อที่เด็กจะน้อยอารมณ์ดีมีความสุข
จับหูหรือดึงหู
อาจเป็นเพียงการแสดงออกของเด็ก ๆ ที่เพิ่งสำรวจเจอว่าตัวเองมีหู ซึ่งเป็นอวัยวะใหม่ที่เด็ก ๆ อาจจะไม่เคยสำรวจหรือสัมผัสโดนมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วมักไม่เกี่ยวข้องกับอาการติดเชื้อที่หูแต่อย่างใด เพราะหากมีการติดเชื้อที่หู มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คัดจมูก ร้องไห้งอแง นอกจากนั้น เด็กมักจะชอบดึงหูตัวเอง เพื่อเป็นการปลอบตัวเองให้หายหงุดหงิดจากบางสิ่งบางอย่าง เช่น ต้องการของเล่น ต้องการดื่มนม ง่วงนอน
กำหมัด
ท่ากำหมัดเป็นท่าของเด็กส่วนใหญ่ที่กำลังผ่อนคลายและกำลังพักผ่อน เนื่องจากทารกแรกเกิดยังไม่สามารถทำอะไรกับมือตัวเองได้มากนัก เนื่องจากการเคลื่อนไหวนิ้วและมือ ต้องอาศัยพัฒนาการทางระบบประสาทและสมองที่มากพอ
ปกติแล้วเด็กจะเริ่มแบมือตอนนอนหลับเมื่ออายุราว 8 สัปดาห์ และสามารถหยิบฉวยและไขว่คว้าสิ่งต่าง ๆ ได้ดีเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 3-4 เดือน แต่ถ้าการกำมือของเด็กมีลักษณะที่กำแน่นขึ้นอาจแสดงถึงความเครียดหรือความหิวได้ โดยเด็กที่หิวมาก ๆ มักจะมีอาการเกร็งเกือบทั่วทั้งร่างกายเลยทีเดียว
ข้อควรระวังก็คือ ถ้าเด็กกำหมัดแน่นหลังจากอายุเลยสามเดือนไปแล้ว ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจหมายถึงเด็กกำลังเครียด วิตกกังวล หรือไม่สบายตัวอยู่
แอ่นหลัง
ท่าแอ่นหลังของเด็ก มักจะเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเจ็บปวด หรือหงุดหงิดไม่สบาย เด็กทารกจำนวนมาก มักทำท่านี้เวลาที่เกิดอาการกรดไหลย้อน โดยเฉพาะหากเด็กแอ่นหลังระหว่างที่กำลังกินนม อย่าบังคับให้เด็กกินต่อ ถ้าเด็กบ้วนนมออกมาหรือร้องไห้ ควรหยุดป้อนนมและปลอบโยนเด็กแทน
เอาหัวโขก
เด็กอาจจะเอาหัวโขกไม่ว่าจะกับพื้น หรือกับลูกกรงกั้นรอบเตียงเด็ก เวลาที่รู้สึกหงุดหงิดหรือไม่สบาย เพราะจังหวะการกระแทกหัวไป ๆ มา ๆ เป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายได้ แต่ถ้าเด็กโขกหัวเป็นเวลานาน ๆ หรือเกิดขึ้นบ่อยๆ ควรปรึกษาคุณหมอเพราะอาจเป็นปัญหาสุขภาพ