สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ อาจมีดังนี้
- ไทรอยด์ต้านแอนติบอดี เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากคุณแม่ที่มีอาการไทรอยด์อักเสบร่างกายอาจผลิตแอนติบอดีที่ต่อต้านการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ทารกมีฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายไม่เพียงพอ
- กินยาบางชนิดที่ขัดขวางการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยาต้านไทรอยด์ ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ลิเธียม (Lithium)
- สมองของทารกไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังต่อมไทรอยด์เพื่อสั่งให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ อาจมีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนต่อมใต้สมองของทารก
- ต่อมไทรอยด์ขาดหาย รูปร่างผิดปกติ หรือมีขนาดเล็กผิดปกติ
- ความบกพร่องทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์
- คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่มีไอโอดีนน้อยเกินไป
- การรักษาโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เช่น การรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในระหว่างตั้งครรภ์
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยโรคเอ๋อ
การวินิจฉัยโรคเอ๋อ สามารถทำการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดตั้งแต่อายุ 2 วันขึ้นไป โดยการเก็บตัวอย่างเลือดที่ส้นเท้าไปส่งตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวัดระดับของไทรอกซิน (Thyroxine) และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ ดังนี้
- ค้นหาค่าระดับต่ำของ T4 (ไทรอกซิน) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยต่อมไทรอยด์ ช่วยควบคุมการเผาผลาญและการเจริญเติบโต
- ค้นหาค่าระดับสูงของ TSH (ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง ช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์และเพิ่มการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์
การรักษาโรคเอ๋อ
การรักษาโรคเอ๋อ คุณหมอต้องรักษาภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด หากตรวจส้นเท้าแล้วผลตรวจระบุว่าผิดปกติ จะต้องให้ทารกเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย หากผลยืนยันว่าผิดปกติ คุณหมอจะรีบหาสาเหตุและเริ่มให้การรักษาโดยการให้ยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) ซึ่งเป็นไทรอยด์ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ช่วยทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับมาอยู่ในระดับปกติ คือ ค่าฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) 0.5-5.0 mU/L. แต่หากทารกยังเด็กเกินกว่าจะเคี้ยวหรือกลืนยาได้ อาจต้องบดยาผสมกับน้ำในปริมาณเล็กน้อยหรือผสมกับนมผงหรือนมแม่เพื่อให้ทารกกินได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ต้องพาทารกมาตรวจเลือดเพื่อปรับขนาดของยาตามที่คุณหมอนัดสม่ำเสมอ เพราะอาจช่วยให้ลูกมีพัฒนาการและไอคิวที่ปกติได้
อย่างไรก็ตาม นมผงบางชนิด โดยเฉพาะนมที่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองอาจขัดขวางการดูดซึมยาไทรอยด์เข้าสู่ร่างกาย จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการเลือกนมผงเพื่อช่วยในการกินยาของทารก
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่จะช่วยจัดการกับโรคเอ๋อ
วิธีต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันโรคเอ๋อในเด็กได้
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม คือ 220 ไมโครกรัม/วัน และคุณแม่ที่ให้นมบุตรควรรับประทานไอโอดีน 150 ไมโครกรัม/วัน เพื่อป้องกันภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดในทารกแรกเกิด
- ตรวจคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดในทารกแรกเกิด เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
- กินยาไทรอยด์ฮอร์โมนภายใน 1 เดือนหลังคลอด หากผลฮอร์โมนมีค่าผิดปกติ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย