Cerebral palsy คือ อะไร
ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral palsy คือ กลุ่มอาการผิดปกติในระบบประสาทที่เกิดขึ้นบริเวณส่วนสั่งการของเปลือกสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นในช่วงที่เปลือกสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เปลือกสมองเสียหายและส่งผลกระทบต่อความสามารถของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหวและความสมดุลของร่างกายอย่างถาวร
ความเสียหายของสมองอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ระหว่างคลอด หรือภายใน 1-2 ปีแรกหลังคลอด ทั้งนี้ อาการของภาวะสมองพิการจะไม่ปรากฏตั้งแต่แรกเกิด แต่จะค่อย ๆ แสดงให้เห็นในช่วงเป็นเด็กทารกหรือเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนใหญ่แล้ว ขอบเขตความเสียหายภายในสมองของเด็กที่มีภาวะนี้จะไม่เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่อาการของโรคอาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการชัดเจนขึ้น มีอาการน้อยลง
สาเหตุของ Cerebral palsy คืออะไร
โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุของภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral palsy คือ ความผิดปกติของพัฒนาการสมอง หรือสมองได้รับความเสียหายขณะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะทารกยังอยู่ในครรภ์ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นหลังคลอด หรือในวัยทารกตอนต้นได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองพิการ อาจมีดังนี้
- การกลายพันธุ์ของยีน เป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง
- การติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) โรคติดเชื้อจากปรสิต อาจกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ได้
- การติดเชื้อของทารก เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไข้สมองอักเสบ ภาวะตัวเหลืองอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในหรือรอบ ๆ สมอง จนทำให้สมองผิดปกติ
- โรคหลอดเลือดสมองในเด็ก ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก อาจส่งผลให้เลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมองของทารกในครรภ์หรือเด็กแรกเกิดหยุดชะงัก และกระทบต่อสมองที่กำลังพัฒนาการของเด็ก
- ภาวะเลือดออกในสมอง เมื่อทารกในครรภ์หรือเด็กแรกเกิดมีเลือดออกในสมอง อาจส่งผลให้เกิดภาวะสมองพิการได้
- อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การหกล้ม การทำร้ายร่างกาย อาจทำให้สมองของเด็กเสียหายจนเกิดภาวะสมองพิการได้
- การขาดออกซิเจน ปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นขณะคลอด เช่น รกพันคอ คลอดยาก หรือภาวะสุขภาพของแม่ เช่น โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง อาจทำให้มีเลือดจากแม่ไปหล่อเลี้ยงสมองของทารกในครรภ์ไม่เพียงพอ และส่งผลให้เกิดภาวะสมองพิการได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย