backup og meta

เด็กพูดไม่ชัด สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    เด็กพูดไม่ชัด สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหา

    พูดไม่ชัด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งอยู่ในช่วงกำลังเรียนรู้ทักษะการสื่อสารและการพูด ภาวะนี้เป็นความผิดปกติของการเปล่งเสียงพูด ส่งผลให้เด็กออกเสียงผิดได้ ทั้งเสียงพยัญชนะและเสียงสระ อย่างไรก็ตาม การศึกษาสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดไม่ชัด และหาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม เช่น การฝึกพูด การบริหารกล้ามเนื้อของอวัยวะที่ใช้พูด อาจช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ดีขึ้นและเหมาะสมตามวัยได้

    ประเภทของความผิดปกติในการพูด

    ความผิดปกติในการพูดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

    1. จังหวะการพูดผิดปกติ (Fluency disorder) เป็นภาวะที่มีจังหวะการพูดผิดปกติ พูดคำเดิมซ้ำ ๆ ตะกุกตะกัก พูดแล้วลากเสียงยาว หรือเสียงอาจหายไปบางช่วง เช่น การพูดติดอ่าง
    2. ความผิดปกติของเสียงพูด (Voice disorder) เป็นการพูดที่ใช้เสียงผิดปกติ อาจมีน้ำเสียง คุณภาพของเสียง หรือระดับเสียงผิดปกติ เช่น พูดเสียงดังเกินไป พูดเบาจนไม่ได้ยิน พูดเสียงแหบแห้ง
    3. การพูดไม่ชัด (Articulation disorder) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของการเปล่งเสียง มักเกิดในเด็กเล็กที่ออกเสียงพยัญชนะและสระไม่ถูกต้อง ทั้งนี้อาจต้องดูตามช่วงอายุ เพราะเมื่อถึงวัยก็จะพูดได้ปกติ ทำให้ออกเสียงผิดหรือพูดผิดเพี้ยนไปจากที่ตั้งใจ

    สาเหตุที่ทำให้เด็ก พูดไม่ชัด

    ปัญหาเด็กพูดไม่ชัดอาจเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้

    • การพูดอะแพรกเซียในเด็ก (Childhood apraxia of speech) เป็นภาวะที่สมองไม่สามารถสื่อสารและสั่งการอวัยวะที่ใช้พูดได้ตามปกติ ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมริมฝีปากและลิ้นได้ตามต้องการ อาจเกิดขึ้นเมื่อเด็กเริ่มหัดพูด ทำให้ไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะ สระ ตัวสะกด หรือวรรคเสียงที่อยู่ในหรือระหว่างพยางค์ได้อย่างถูกต้อง
    • ความบกพร่องทางการได้ยิน ความผิดปกติด้านการได้ยินทำให้ไม่สามารถเลียนแบบการพูดของผู้ใหญ่หรือคู่สนทนาได้เหมือนกับเด็กทั่วไป และไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง เด็กจึงปรับปรุงการออกเสียงพูดของตัวเองได้ยาก ในปัจจุบัน มีการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งถ้าพบความผิดปกติก็สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจต้องใช้เครื่องช่วยฟัง
    • ความบกพร่องของเส้นประสาทควบคุมการพูด ส่งผลให้อวัยวะในการพูดคือ ริมฝีปาก ลิ้น เส้นเสียง และกะบังลมอ่อนแรงและทำงานได้ไม่สัมพันธ์กัน ทำให้พูดไม่ชัด พูดช้า พูดเสียงเบา
    • ความผิดปกติของอวัยวะบนใบหน้าหรือช่องปาก เมื่ออวัยวะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ เส้นยึดใต้ลิ้นสั้น อาจทำให้เด็กพูดคำและประโยคที่ถูกต้องได้ยาก และออกเสียงผิดหรือเสียงขึ้นจมูก เช่น เด็กที่มีเพดานโหว่
    • การเรียนรู้วิธีพูดอย่างไม่ถูกต้อง เด็กอาจเรียนรู้วิธีการพูดที่ไม่ถูกต้องจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น การเลียนแบบคนใกล้ตัวที่พูดไม่ชัดแล้วติดมาเป็นนิสัยในการพูด การออกเสียงคำบางคำผิดมาตั้งแต่ต้น ทำให้พูดไม่ชัด ประสมคำไม่ถูกต้อง
    • อาการพูดติดอ่าง เป็นความผิดปกติทางการพูดในวัยเด็กที่พบได้บ่อยในช่วงที่กำลังพัฒนาทักษะการพูดและใช้ภาษา ทำให้เด็กมีจังหวะการพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด ออกเสียงคำตะกุกตะกัก จนไม่สามารถสื่อความหมายในสิ่งที่เด็กอยากพูดได้ อย่างไรก็ตาม อาการนี้อาจหายไปได้เมื่อโตขึ้น
    • ความผิดปกติในด้านพัฒนาการ เช่น
  • ภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) เป็นภาวะความพิการทางระบบกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวที่พบได้บ่อย อาจส่งผลต่อการใช้งานอวัยวะที่ใช้พูดและออกเสียง
  • โรคออทิสติก (Autistic) เป็นโรคที่สามารถส่งผลให้เด็กสื่อสารผิดปกติ ไม่สามารถพัฒนาตามวัยได้อย่างเหมาะสม
  • วิธีแก้ปัญหาเด็กพูดไม่ชัด

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยแก้ปัญหาเด็กพูดไม่ชัด และช่วยพัฒนาทักษะในการพูดของเด็กได้

  • สอนวิธีเปล่งเสียงที่ถูกต้องให้กับเด็ก เช่น ตำแหน่งการวางลิ้น ลักษณะการหายใจและทิศทางของลมในขณะที่ออกเสียงพยัญชนะและสระ
  • ฝึกวิธีพูดในแบบต่าง ๆ เช่น ให้เด็กพูดทวนประโยคของตัวเองช้า ๆ พูดทีละคำให้ชัดเจน พยายามเริ่มจากการพูดประโยคสั้น ๆ แล้วค่อยฝึกการสื่อสารด้วยประโยคยาวขึ้น
  • พูดคุยกับเด็กอย่างใจเย็น ไม่บังคับหรือดุเด็กให้พูดให้ชัดเจนในทันที เพราะการฝึกทักษะการพูดและการสื่อสารให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
  • พยายามให้กำลังใจ ช่วยให้เด็กกล้าพัฒนาการพูดของตัวเอง ไม่ล้อเลียน หรือทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจในการสื่อสาร
  • พาเด็กเข้ารับการรักษาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้เด็กที่พูดไม่ชัด เรียนรู้ที่จะพูดได้ตามปกติ โดยคุณหมออาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
    • ให้เด็กออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อปาก ลิ้น และกราม ที่ใช้ในการพูดบ่อย ๆ
    • สอนวิธีการพูดให้ชัด เช่น สอนให้พูดให้ช้าลง สอนจังหวะการพูดที่เหมาะสมจังหวะการหายใจของตัวเอง
    • สอนวิธีการควบคุมลมหายใจเพื่อช่วยให้เสียงออกจากปากได้มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังได้ยินเสียงพูดของเด็กชัดเจนขึ้น
  • เคล็ดลับในการดูแลเด็กพูดไม่ชัด

    • หลีกเลี่ยงการพูดต่อประโยคหรือแก้ไขการพูดของเด็ก ในลักษณะที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่พอใจ หรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
    • หากไม่แน่ใจว่าเด็กพูดว่าอะไร อาจทวนคำถามอีกครั้งให้เด็กตอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
    • หากไม่เข้าใจว่าเด็กอยากสื่อสารอะไร ให้ถามเด็กให้กระจ่าง อย่าแกล้งทำเป็นเข้าใจ เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์ของเด็กเมื่อรู้ว่าตัวเองพูดให้ผู้ใหญ่เข้าใจไม่ได้
    • หากเด็กสามารถฟังและเข้าใจได้ตามปกติ ผู้ใหญ่อาจชวนเด็กคุยให้มาก ๆ เวลาอยู่ด้วยกัน ด้วยการเล่าเรื่องต่าง ๆ หรือการถามคำถาม เพื่อกระตุ้นให้เด็กตอบและแสดงความคิดเห็นกับเรื่องที่คุยด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา